xs
xsm
sm
md
lg

สภาปฏิรูปแห่งชาติจัดสัมมนาฟังความเห็นด้านปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ที่นครปฐม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนาการรับฟังความเห็นประชาชนด้านปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ ที่จังหวัดนครปฐม

วันนี้ (4 เม.ย.) ที่ห้องประชุมปิ่นเกลียว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ พุทธิชีวิน รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและกาพัฒนามนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดสัมมนาการรับฟังความเห็นประชาชนด้านปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ เพื่อรายงานประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

อีกทั้งรับฟังความเห็นทั้งแนวคิด และแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อสร้าง และส่งเสริมให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิรูปและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ และการปฏิรูปประเทศ

โดยมี นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจังหวัดนครปฐม คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสถานศึกษา คระครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่จากทั้งภาครัฐ และเอกชน ผู้นำท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี เข้าร่วมโครงการสัมมนาในครั้งนี้กว่า 400 คน

สำหรับแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย

1.ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และเชื่อมโยงการพัฒนาทุกด้านสอดคล้องต่อวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศระยะยาว

2.ขจัดความเหลื่อมล้ำ และประกันโอกาสเข้าถึงการศึกษาของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม

3.ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาครู พัฒนาสถานศึกษา ซึ่งในอนาคตจะไม่เน้นการพัฒนาเขตพื้นที่ แต่จะเน้นพัฒนาครู และโรงเรียน รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะของคนไทย และของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

4.ลดขนาดการจัดการภาครัฐ และกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา โดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัด

และ 5.ปรับกลไกทางกฎหมายให้รองรับการปฏิรูป เช่น การปรับโครงสร้าง รวมถึงวางกลไกที่ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะตั้งให้เป็นรูปแบบการทำงานที่คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หลังจากการร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จะได้นำข้อมูลมารวบรวมจัดทำเป็นรายงานข้อสังเกต และข้อเสนอแนะในการปฏิรูปด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น