ยกย่อง “สมเด็จพระเทพฯ” ครูผู้ยิ่งใหญ่ “ณรงค์” ยันปฏิรูปการศึกษาจะเน้นจากส่วนเล็กๆ ไม่เน้นปรับโครงสร้าง ชี้อาจไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ พร้อมเร่งปฏิรูปการผลิตและการพัฒนาครู เพราะครูเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน จัดโดยสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานปลัด ศธ. มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา พร้อมกล่าวตอนหนึ่ง ว่า ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของครูผู้ยิ่งใหญ่ นั่นคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ท่านทรงเป็นครูมา 30 กว่าปีในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทั้งยังทรงดูแลโรงเรียนจิตรลดา และโรงเรียนต่างๆ ที่สำคัญพระองค์ทรงติดตามการจัดการศึกษาทั่วประเทศโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีใครอยากไปเป็นครูเพราะเดินทางยาก มีแต่เด็กมอมแมม แต่พระองค์ก็ทรงเสด็จไปทุกแห่ง และจากที่ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯหลายครั้ง จึงมีโอกาสได้เห็นความทุ่มเทของพระองค์ และความใส่ใจที่ทรงมีต่อผู้บริหารโรงเรียน ไม่เว้นกระทั่งครูเล็กๆ ก็ยังทรงจำได้
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในเวลานี้นั้น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรี กำลังดำเนินการเพื่อวางรากฐานการศึกษาไทยให้มั่นคงในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจะเน้นปรับโครงสร้างองค์กร เพราะคิดว่าจะช่วยให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ผลลัพธ์ที่ได้คือเกิดองค์กรขนาดใหญ่และอุ้ยอ้าย การทำงานไม่คล่องตัว มีความซับซ้อนและขาดเอกภาพ ทั้งยังไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาตามเจตนารมณ์ และจากผลปรับโครงสร้างนี่เองทำให้เราขาดกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในภาพรวม ทำให้ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ปรากฏไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น แนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ ศธ. ดำเนินการนั้น จะมุ่งสร้างความเกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายในห้องเรียน หรือเรียกว่าเป็นการปฏิรูปภาคปฏิบัติ เน้นปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูที่จะมีผลต่อนักเรียน มากกว่าปรับโครงสร้าง
“คนที่ติดตามปฏิรูปการศึกษาจากภายนอกอาจไม่เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก และมองว่า กระทรวงประกาศปฏิรูปฯ มาหลายเดือนแต่ถึงเวลานี้ยังดูเงียบอยู่ เพราะส่วนใหญ่คิดว่าการปฏิรูปการศึกษาคือต้องปรับโครงสร้าง ต้องแยกองค์กร ซึ่งตรงนี้จะยังไม่เกิดขึ้นและอาจไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ และในความจริง ศธ.ปฏิรูปมาต่อเนื่องเริ่มจากจุดเล็กๆ จากห้องเรียน โรงเรียน ไม่ได้เริ่มจากข้างบนหรือโครงสร้าง ทำให้คนภายนอกไม่เห็นแรงกระเพื่อม แต่คนในวงการศึกษาจะทราบ”พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา คือ การพัฒนาครู เพราะคุณภาพครูมีผลต่อคุณภาพของนักเรียน ซึ่ง ศธ. ก็ได้เตรียมการปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครูด้วย โดยในปีการศึกษา 2558 จะเริ่มรับนักศึกษาเข้าโครงการคุรุทายาท (พัฒนาชีวิตด้วยการเรียนรู้) ขณะเดียวกัน ก็จะเตรียมพัฒนาครูผ่านระบบสารสนเทศ แทนการให้ครูต้องออกมาอบรมในโรงแรมซึ่งเสียทั้งเวลาและงบประมาณทั้งยังเป็นการทิ้งห้องเรียนอีกด้วย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่