xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ชงแก้ไขรายละเอียดในร่าง รธน.3 มาตรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศธ. ถกร่าง รธน. พร้อมขอแก้ไข 3 มาตรา โดยเฉพาะ ม.52 ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่าย ขอให้แก้เป็น รัฐจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในจำนวนที่เพียงพอ ชี้ประเด็นนี้แม้แต่ กมธ. ปฏิรูปการศึกษาฯ สปช. ก็เคยเสนอเช่นกัน ชี้รัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกคน เหตุบางคนมีกำลังพอ แต่ให้นำงบที่เหลือไปพัฒนาส่วนอื่นๆ

วันนี้ (29 เม.ย.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ฉบับใหม่ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. เพื่อพิจารณาว่า มีเรื่องใดที่จะเสนอปรับแก้เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพบว่ามีหลายมาตราที่เชื่อมโยงกับ ศธ. แต่มีเพียง 3 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง คือ มาตรา 52 ที่ระบุว่า พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ในมาตราดังกล่าวจะใช้คำศัพท์ที่มีความหมายแตกต่างอยู่ 3 คำ คือ พลเมือง,บุคคล และประชาชน แต่เข้าใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะตั้งใจเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะ “พลเมือง” ใช้ในกรณีที่หมายถึงคนไทย ที่รัฐต้องจัดการศึกษาภาคบังคับที่เท่าเทียมกัน แต่ถ้าพูดถึงการสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับประชาชน จะหมายถึงทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยหมายรวมถึงคนต่างด้าวด้วย นอกจากนั้น มีประเด็นคำว่าปฐมวัย ซึ่งถ้าคำจำกัดความในรัฐธรรมนูญจะหมายถึงช่วงอายุตั้งแต่ 0 - 6 ปี แต่ยังไม่แน่ใจว่า เฉพาะ ศธ. จะดูแลเฉพาะระดับอนุบาลหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้เปลี่ยนจากการใช้คำว่า ไม่เสียค่าใช้จ่าย มาเป็น รัฐจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในจำนวนที่เพียงพอ

“ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงในเสนอในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเดิม สปช. เสนอให้ตัดคำว่า ไม่ตัดคำว่าเสียค่าใช้จ่ายทิ้ง เพราะเห็นว่ารัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกคน เพราะมีบางกลุ่มที่มีกำลังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยรัฐจะได้นำเงินที่เหลือจากส่วนนี้ไปพัฒนาในด้านอื่นๆ แทน แต่ ศธ. เห็นว่าจำเป็นต้องคงไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะปรับถ้อยคำมาเป็น รัฐจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในจำนวนที่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นประเด็นว่ารัฐจะไปเก็บเงินค่าเล่าเรียนจากนักเรียน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อาทิ จะสนับสนุนให้คนกลุ่มใด หรือให้ผู้ที่มีฐานรายได้เท่าไรนั้น น่าจะไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 84 ที่ระบุให้รัฐต้องจัด ส่งเสริม และทำนุบำรุงการศึกษาอบรมทุกระดับและทุกรูปแบบ ซึ่ง ศธ.สามารถดำเนินการได้ไม่เป็นประเด็นสำคัญเพียงอาจจะมีบางถ้อยคำที่ต้องหาคำจำกัดความให้ชัดเจน และ มาตรา 286 ที่ระบุให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถ โดยกำหนดรายละเอียดไว้ 12 ข้อ อาทิ การกระจายอำนาจ การจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่นักเรียนทุกคนอย่างเพียงพอตามความจำเป็น การปรับปรุงการอาชีวศึกษา การปรับปรุงระบบอุดมศึกษา การพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในวงการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ไม่ควรจะกำหนดรายละเอียดเป็นข้อๆ แต่ควรจะเขียนในภาพรวมที่ครอบคลุมเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะอาจจะมีเรื่องจำเป็นอื่นๆที่ต้องทำมากกว่าที่กำหนด และมองว่าการลงรายละเอียดลงในรัฐธรรมนูญจะทำให้แก้แก้ยาก ทั้งนี้ตนจะรวบรวมความคิดเห็นดังกล่าวเสนอต่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
 
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น