xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ไม่ขัด มรภ.ขอออกนอกระบบ-ทปอ.รัฐเตรียมเข้าพบ 11 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทปอ. มรภ.40 แห่งยกทีมพบ “ณรงค์ - กฤษณพงศ์” รายงานคืบหน้าดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปการศึกษา - ปฏิรูปประเทศ “ณรงค์” แนะหาสาขาที่ถนัด 2 - 3 สาขาพัฒนาให้โดดเด่นและเป็นเลิศให้สังคมยอมรับ ระบุพร้อมหนุนการทำงานของ มรภ. เผยไม่ค้านถ้า มรภ. ขอออกนอกระบบ ด้าน ทปอ. จ่อเข้าพบเพื่อรับนโยบาย 11 พ.ค. นี้ เผยอธิการที่เป็น สนช. เล็งขอ รมว.ศึกษาฯ - รัฐบาล ดันร่าง พ.ร.บ.อุดมฯ และขอช่วยหนุนผลิตกำลังคน และสร้างนักวิจัย

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 40 แห่ง นำโดย ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เข้าพบ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ และ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ เพื่อขอรับทราบนโยบาย พร้อมทั้งรายงานการดำเนินงานของ มรภ. ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า ทาง ทปอ. มรภ. ได้รายงานผลการปฏิบัติงานตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา และการเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ที่ มรภ. ดำเนินการอยู่ ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. มรภ.รับสนองโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2. วางแผนดำเนินการตามแนวคิดของ นายกฤษณพงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งกำกับดูแลมหาวิทยาลัย อาทิ กำหนดทิศทางและเป้าหมาย เพื่อสร้างจุดเด่นและความเป็นเลิศในสาขาที่ถนัดของ มรภ. แต่ละแห่ง การพัฒนาหลักสูตรในสาขาเทคโนโลยีและอาชีพ การให้ มรภ. เป็นที่พึ่งของชุมชน เป็นต้น 3. มรภ. 40 แห่งได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทุกภูมิภาค 4. การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 5. การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต และ 6. การสนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนากลุ่มมหาวิทยาลัยและวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน มรภ. สู่ความเป็นเลิศระยะ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 - 2567

ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ศธ. พร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนา มรภ. ในทุกด้าน ซึ่งตนก็ได้เน้นย้ำให้ มรภ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของท้องถิ่น ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม นักเรียน นักศึกษาที่ดูแลอยู่ รวมถึงกำชับให้ มรภ. แต่ละแห่งค้นหาตัวเองให้เจอว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านใด ใน 2 - 3 สาขา เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านนั้นโดยเฉพาะ เพื่อให้สังคมยอมรับ สำหรับการนโยบายในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนสถานะไปเป็น ม. ในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว แต่ทราบว่าขณะนี้มี มรภ. บางแห่งกำลังเสนอขอออกนอกระบบแล้ว ซึ่ง ศธ. ก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะถือว่า มรภ. นั้นๆ มีเหตุผลที่จะขอเป็นอิสระเพื่อความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ และด้านวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้

ขณะที่ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทปอ. จะเข้าพบเพื่อรับนโยบายทางการศึกษาจาก พล.ร.อ.ณรงค์ วันที่ 11 พ.ค. นี้ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) จะขอรับการสนับสนุนจาก รมว.ศึกษาธิการ และรัฐบาล ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา ขณะที่ ทปอ. จะขอการสนับสนุนด้านการผลิตกำลังคนและนักวิจัยจาก รมว.ศึกษาธิการ และรับฟังนโยบายจากรมว.ศึกษาธิการ โดยจะมี นายกฤษณพงษ์ และ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เข้าร่วมหารือด้วย ส่วนตัวเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะมีการผลักดันนโยบายต่างๆ ของอุดมศึกษา เพราะมีบุคลากรจากอุดมศึกษา ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและงานการศึกษา ถึง 4 คน ได้แก่ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายกฤษณพงศ์ , รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. และ รศ.ดร.พินิติ ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าใจงานอุดมศึกษาและปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างดี
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น