ไม่ว่าจะเป็นเชฟ เมนูอาหาร รสชาติ บริการ วัตถุดิบ ภาชนะ ออกแบบร้าน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นไปตามต้นตำรับแดนอาทิตย์อุทัย นี่เป็นจุดยืนชัดเจนของร้าน ‘Kacha kacha’ ต้องการให้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นตามโมเดลต้นตำรับทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ใช่แค่ “เหมือน” แต่ต้องมาจาก “จิตวิญญาณ” ของชาวลูกหลานแดนซามูไร
ทั้งหมดเกิดจากวิสัยทัศน์ของ “วิเชียร อินทร์ไกรดี” เจ้าของธุรกิจ วัย 39 ปี ที่เชื่อว่าคนไทย ซึ่งเคยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก เมื่อกลับมาแล้วยังอยากจะกินอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ และเรื่อยๆ จึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น โดยซื้อลิขสิทธิ์ร้าน ‘Kacha kacha’ ซึ่งเป็นเจ้าดังในญี่ปุ่น มีกว่า 47 สาขา เพื่อมาเปิดตลาดในประเทศไทย
“พื้นฐานผมทำธุรกิจเสื้อผ้าส่งออกประเทศญี่ปุ่นมา 16 ปี ต้องเดินทางไปญี่ปุ่นแทบทุกเดือน ภรรยาผมก็เป็นชาวญี่ปุ่น จึงมีความใกล้ชิดกับประเทศนี้มาก และทุกครั้งที่กินอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยรู้ทันทีว่ามันไม่เหมือนต้นตำรับ ขณะที่ทุกวันนี้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเยอะมาก คนที่เคยไปแล้วคงมีความรู้สึกเหมือนกับผมว่า ในเมืองไทยหาอาหารญี่ปุ่นแบบแท้ๆ กินในเมืองไทยไม่ได้เลย” เขาเกริ่นนำ และต่อว่า
“ทำให้ผมสนใจลงทุนธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ ในเมืองไทย โดยเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารร้าน ‘Kacha kacha’ ซึ่งเป็นร้านดังแนว “อิซากายา” (izakaya : กินอาหารและสังสรรค์หลังเลิกงาน) เพื่อขอซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์มาเปิดในไทย ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องส่งทีมงานชาวญี่ปุ่นมาให้ผมด้วย เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ได้ร้านแบบต้นตำรับ” วิเชียรกล่าว
ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไม่ใช่แค่ “เหมือน” แต่มาจาก “สายเลือด” แดนซามูไรจริงๆ นั้น วิเชียรแจกแจงให้ฟังว่า ทั้งเชฟ ทีมออกแบบร้าน วัสดุที่ใช้สร้างร้าน ภาชนะทุกชิ้น ผู้จัดการร้าน ฯลฯ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ขณะที่รสชาติอาหารและเมนูต่างๆ เหมือนของแท้ ไม่มีการปรับแต่งเด็ดขาด ส่วนบริการเป็นรูปแบบ “โอโมเตนาชิ” (omotenashi) ซึ่งมากกว่าความหมายของคำว่า “SERVICE” แต่เป็นการให้บริการด้วยหัวใจแห่งชาวญี่ปุ่นจริงๆ
“จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นเป็นเรื่องลึกซึ้งเกินกว่าจะอธิบายได้ ซึ่งหากจะให้ร้านเป็นไปตามต้นตำรับจริงๆ ก็ต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะทำได้ ในขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปในเมืองไทยมักจะทำให้ออกมาคล้ายเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ การแต่งร้าน หรืออาหาร แต่สำหรับคนที่คลุกคลีกับประเทศญี่ปุ่นอย่างผม เข้าไปแล้วรู้สึกว่ามัน “ไม่ใช่” ซึ่งเรื่องนี้เดิมคนไทยอาจจะไม่เข้าใจ แต่ปัจจุบันที่คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นแทบจะเป็นจังหวัดที่ 78 แล้ว ผมเชื่อว่าจะสัมผัสได้ว่าร้านไหนที่เป็นร้านต้นตำรับจริงๆ” เขาเสริม
ร้าน ‘Kacha kacha’ ใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เป็นค่าซื้อลิขสิทธิ์กับค่าก่อสร้าง เปิดสาขาแรกที่ “เอเชียทีค” เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พื้นที่ร้าน 200 ตารางเมตร เบื้องต้นไม่เคยทำตลาดประชาสัมพันธ์ใดๆ เลย อาศัยร้านตกแต่งสวยงามโดดเด่น และเมื่อลูกค้าเข้ามากินแล้วเกิดประทับใจช่วยไปบอกต่อ และที่สำคัญ การเติบโตของคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมากหลังได้ผ่อนคลายไม่ต้องทำวีซ่า ส่งผลให้ร้าน ซึ่งมีเอกลักษณ์แบบต้นตำรับพลอยได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย โดยลูกค้าที่เข้าร้านจะใช้จ่ายประมาณ 500 บาทต่อคน เฉลี่ยจำนวนผู้เข้าร้านประมาณ 4,000-5,000 คนต่อเดือน
ทั้งนี้ หลังจากประสบความสำเร็จจากการเปิดแห่งแรกแล้ว เขาต่อยอดธุรกิจขยายสาขา 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งลงทุนเอง ตามด้วย จ.ขอนแก่น ขยายในรูปแบบแฟรนไชส์
“ระบบแฟรนไชส์ของ ‘Kacha kacha’ ผมนำโมเดลญี่ปุ่นมาใช้ทุกประการ ซึ่งเป็นระบบที่ลงรายละเอียดและความพิถีพิถันมากกว่าระบบแฟรนไชส์ทั่วไป เช่น QC คุณภาพทุกเดือน ทุกขั้นตอนมีคู่มือกำกับ อย่างพนักงานต้องยิ้มอย่างไร ยืนอย่างไร สบตาลูกค้าอย่างไร ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนตัวตนของชาวญี่ปุ่น” วิเชียรเผย
ทั้งนี้ เงื่อนไขการลงทุนแฟรนไชส์ ได้แก่ ค่าสัญญา 2 ล้านบาท ระยะเวลา 6 ปี ค่ารอยัลตีฟี 6% จากยอดขาย ค่าการตลาด 15,000 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างเชฟ และทีมงานชาวญี่ปุ่น ผู้ลงทุนเป็นฝ่ายรับผิดชอบทั้งหมด เบ็ดเสร็จผู้ซื้อแฟรนไชส์ใช้เงินทุนเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาท จุดคุ้มทุนขึ้นอยู่กับทำเลและขนาดร้าน แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี
ไม่เพียงแบรนด์ ‘Kacha kacha’ เท่านั้น เจ้าของธุรกิจรายนี้ยังขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์อื่นควบคู่ด้วย ได้แก่ Fujiyama Go-Go และ Tsukemen Go-Go ทั้งหมดคงจุดยืนเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับแท้ๆ แต่ต่างกันไปในเรื่องเมนูอาหารและรูปแบบร้าน รวมแล้วปัจจุบันมีร้านในเครือรวมกันกว่า 8 แห่ง ผลประกอบการเติบโตปีละเฉลี่ย 10% โดยปี 2557 ที่ผ่านมารายได้รวมอยู่ที่ 100 ล้านบาท ส่วนปีนี้ (2558) คาดจะเพิ่มเป็นกว่า 116 ล้านบาท
เขาเผยด้วยว่า เท่าที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเติบโตอย่างยิ่ง จากข้อมูลที่ได้ค้นหามา ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมูลค่ารวมปีละกว่า 19,000 ล้านบาท และปีนี้คาดทะลุ 20,000 ล้านบาท มีจำนวนร้านกว่า 2,400 แห่งทั่วประเทศ และยังมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 17-20% ต่อเนื่องทุกปี รวมถึงผู้ลงทุนชาวไทยรายใหญ่จ่อนำเข้าอาหารญี่ปุ่นกว่า 230 แบรนด์มาทำตลาดในไทย
จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าตลาดขยายตัวสูงมาก ขณะเดียวกันการแข่งขันดุเดือดเช่นกัน ทว่า ในมุมมองผู้ประกอบการรายนี้ เชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คนไทยใกล้ชิดและชื่นชอบอย่างยิ่ง โอกาสสำหรับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตได้อีกมาก ภายใต้เงื่อนไขสำคัญต้องเป็นร้านที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และรักษาคุณภาพให้โดดเด่น
“ปัจจุบันการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มตลาดแมส เน้นราคาถูก สินค้าแค่คล้ายๆ อาหารญี่ปุ่นแท้ กลุ่มนี้ผมไม่ถือเป็นคู่แข่ง กับ 2. กลุ่มร้านพรีเมียม เน้นเรื่องคุณภาพ ซึ่งเราจะแข่งในตลาดนี้ แม้จะมีร้านขององค์กรใหญ่ๆ หลายราย แต่ยังไม่มีรายใดที่ยึดตัวตนญี่ปุ่นแท้ในสายเลือดเหมือนเรา ซึ่งผมเชื่อว่าในระยะยาวร้านอาหารญี่ปุ่นที่จะอยู่รอดได้ต้องเป็นร้านคุณภาพสูงตามต้นตำรับ เพราะคนไทยเริ่มเรียนรู้ และคัดกรองสิ่งที่ดีที่สุดเอง อย่างร้าน‘Kacha kacha’ ผมไม่กล้าบอกว่าขายอาหารอร่อยที่สุด แต่ผมกล้าบอกว่าร้านเราขายประสบการณ์เหมือนต้นตำรับแท้ที่ดีที่สุด” วิเชียรสรุปตอกย้ำจุดยืน
โทร. 0-2108-4242, 08-1629-3799
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *