จากสภาพเศรษฐกิจซบเซา ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจกว้างขวาง โดยเฉพาะระดับกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจชาติ รัฐบาลจึงเตรียมออกมาตรการสินเชื่อ วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 4% ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อให้เอสเอ็มอีมีทุนหมุนเวียนช่วยประคองธุรกิจผ่านช่วงคับขันไปได้
ที่น่าสนใจ โครงการดังกล่าวมีแนวคิดจะผ่อนปรนการอนุมัติสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีที่มีประวัติติดเครดิตบูโร (บริษัท ข้อมูลเครดิต จำกัด) สามารถใช้บริการได้ด้วย ซึ่งเดิมกลุ่มนี้โอกาสยากจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะขาดความมั่นใจจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมา การปล่อยสินเชื่อดังกล่าว “เสี่ยงมากเกินไปหรือไม่” และ “สมควรหรือไม่” เพราะเกรงว่า เมื่อให้ไปแล้วจะกลายเป็นหนี้เสีย ซ้ำเติมปัญหาขึ้นไปอีก จึงเป็นประเด็นที่ควรไขรหัสตามหาบทสรุปกันต่อไป
แจงให้เฉพาะติดเครดิตบูโรสุดวิสัย กลุ่มแบล็คลิสต์ไม่เกี่ยว
นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เผยว่า รายละเอียดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ มีวงเงินรวม 15,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 7% โดยกระทรวงการคลังจะแบ่งรับภาระดอกเบี้ยให้ 3% ส่วนผู้กู้จ่ายเอง 4% แบ่งกลุ่มเอสเอ็มอีเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิ์เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการเมือง สัดส่วน 65% 2.เอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม 3.เอสเอ็มอีขยายตลาดไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และ 4.เอสเอ็มอีกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดย 3 กลุ่มหลังสัดส่วนเฉลี่ยกลุ่มละ 10%
ส่วนการผ่อนปรนเอสเอ็มอีติดเครดิตบูโรใช้สิทธิ์สินเชื่อนี้ได้นั้น เขาระบุว่า กำหนดชัดเจนจะให้สิทธิ์ “เฉพาะรายติดเครดิตบูโร โดยไม่เจตนา หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยจริงๆ” เช่น เคยไปค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ผู้อื่นนานมาแล้ว จนตัวเองหลงลืม แต่ยังมีข้อมูลค้างอยู่ในเครดิตบูโร หรือมีปัญหาทางธุรกิจในอดีต แต่ยังตั้งใจทำมาหากินเสมอมา และปัจจุบันธุรกิจกลับมาดีแล้ว เป็นต้น ส่วนรายที่ติดบัญชีดำ หรือ “แบล็คลิสต์” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ จะไม่ปล่อยเข้าโครงการนี้เด็ดขาด
สำหรับการพิจารณาอนุมัตินั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติของธนาคาร โดยดูจากทั้งผลประกอบการในปัจจุบัน และย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี ประกอบกับตรวจประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา และแนวโน้มกิจการ ส่วนการป้องกันไม่ให้กลุ่มติดแบล็คลิสต์อ้างมาใช้สิทธิ์ จะดูจากบริบทต่างๆ ประกอบด้วย อีกทั้ง ส่งเจ้าหน้าที่ลงภาคสนามดูพฤติกรรมจริงของผู้ต้องการกู้ และขอข้อมูลจากองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดมาประกอบการพิจารณา
“ผมยืนยันว่า เราสามารถแยกแยะลูกค้าได้แม่นยำ ซึ่งข้อมูลต่างๆ สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปแห่งการติดเครดิตบูโรได้ โดยเราต้องการเปิดโอกาสให้เฉพาะรายที่ “ติดโดยไม่ได้ตั้งใจ” ทั้งกลุ่มที่ติดแล้วยังทำธุรกิจต่อ และกลุ่มที่ติดแล้วต้องหยุดกิจการไปเลย ส่วนรายที่ “หัวหมอ” จะมาอ้างใช้สิทธิ์ เราจะไม่สามารถอนุมัติให้” กก.ผจก.เอสเอ็มอี กล่าว
อย่างไรก็ตาม อีกปมที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ หากยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่รายที่มีหนี้ค้างกับสถาบันการเงินอยู่ อาจจะถูกเจ้าหนี้เดิมฟ้องเรียกทรัพย์ แทนที่จะนำสินเชื่อใหม่ที่ได้ไปเป็นหมุนเวียนประคองธุรกิจ กลับต้องนำไปจ่ายหนี้ค้างเก่าแทน ทำให้ผิดวัตถุประสงค์โครงการ ดังนั้น เอสเอ็มอีแบงก์กำลังพยายามหาแนวทางปิดช่องว่าง โดยจะประสานไปตามสถาบันการเงินเจ้าหนี้เดิม ขอร้องว่าอย่าฟ้องในช่วงนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้ายามคับขัน
นอกจากนั้น จะกำหนด “นิยาม” ของเอสเอ็มอีติดบูโรที่จะได้รับสิทธิ์ให้ชัดเจนที่สุด เพื่อความรอบคอบต่อการอนุมัติ รวมถึง หารือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีติดเครดิตบูโร โดยไม่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ซึ่งทั้งหมดเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอต่อไปยังกระทรวงการคลัง และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ เพื่อประกาศใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่เวลานี้กำลังลำบาก
บสย.แนะตั้งโต๊ะปรับโครงสร้างหนี้ก่อนปล่อยกู้ใหม่
ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เผยว่า บสย.มีส่วนร่วมในโครงการปล่อยสินเชื่อพิเศษดังกล่าว โดยมติ ครม.อนุมัติขยายการรับความเสียหายจากปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นสัดส่วน 30% ของวงเงินสินเชื่อ จากปกติรับความเสียหาย 18% รวมถึง ในการค้ำประกัน จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ในปีแรก ส่วนปีที่ 2-3 คิดอัตรา 0.75% และหลังจากนั้น จึงคิดอัตราปกติที่ 1.75%
นอกจากนั้น ให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ติดเครดิตบูโรได้โดยไม่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ซึ่งแนวคิดดังกล่าว แม้จะมีเจตนาดี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้เลย มีโอกาสได้รับสินเชื่อพิเศษจากรัฐบาล แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวล เพราะในความเป็นจริง เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ติดเครดิตบูโร มักติดหนี้กับสถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมๆ กัน ทั้งสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตต่างๆ เป็นต้น หากปล่อยกู้ให้มีเงินก้อนใหม่เข้าไปอีก อาจเกิดปัญหา บรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงินเหล่านั้น ย่อมต้องฟ้องเรียกเงินลูกหนี้ ทำให้ไม่สามารถนำเงินจากสินเชื่อพิเศษไปใช้ดำเนินธุรกิจได้
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ควรจะใช้สถานการณ์ที่รัฐบาลต้องการจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีติดเครดิตบูโรมาเป็นโอกาส โดยเอสเอ็มอีแบงก์รับบทเป็นเจ้าภาพ นัดพบเจ้าหนี้ทุกรายของผู้ต้องการสินเชื่อ มาเปิดการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดให้เรียบร้อยพร้อมกันในทีเดียว ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานสายการเงินมา สถานการณ์ขณะนี้ เจ้าหนี้พร้อมจะประนอมหนี้ให้ในอัตราพิเศษอยู่แล้วและใช้เวลาไม่นานด้วย หลังจากนั้น ค่อยปล่อยสินเชื่อพิเศษให้ น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยเอสเอ็มอีได้เหมาะสมกว่า
“ผมอยากให้ย้อนมาสู่ความเป็นจริง ที่ควรให้เอสเอ็มอีปรับโครงการหนี้เดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยไปรับเงินทุนก้อนใหม่เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจ ไม่เช่นนั้น เมื่อเจ้าหนี้ รู้ว่าลูกหนี้มีเงินใหม่เข้ามา ย่อมต้องฟ้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แทนที่จะให้สินเชื่อใหม่ไปเป็นทุนหมุนเวียนธุรกิจ กลับจะถูกใช้แก้ปัญหาเก่า ส่วนการจะไปขอร้องให้เจ้าหนี้เก่าอย่าเพิ่งฟ้องในช่วงนี้ ก็เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ” นายวัลลภ ระบุ
นักวิชาการชี้จุดสำคัญคัดแยก SMEs “ดี-แย่” ให้แม่นยำ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าว ในทางทฤษฏีถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มลำบากที่สุด และต้องการสินเชื่อมากที่สุดให้เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับกระบวนการในการคัดเลือกระหว่างรายที่ “สู้เต็มที่แล้ว” แต่ยังติดเครดิตบูโรกับรายที่ต้องการ “ชักดาบ” ซึ่งวิธีแยกระหว่างน้ำดีกับน้ำเสียออกจากกัน นับเป็นเรื่องยาก และต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
“สิ่งสำคัญเอสเอ็มอีแบงก์ต้องพยายามทำ คือ หาข้อมูลให้มากพอ และต้องทำโครงการนี้ให้เร็วด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติการประเมินให้แม่นยำ ทำได้ยาก แต่หากช้าเกินไป จะไม่ทันต่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดังนั้น ทางเอสเอ็มอีแบงก์ ควรมีกองหนุนมาเสริม เช่น ในการสำรวจพื้นที่ และหาข้อมูลประกอบให้ถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด รวมถึง การให้สินเชื่ออาจต้องมีเงื่อนไขพิเศษประกอบ เพื่อให้เงินที่ใส่ลงไป ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการจริงๆ” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
นอกจากนั้น ในขั้นตอนการดำเนินการนั้น อยากให้ผสมผสานกันระหว่างปรับโครงสร้างหนี้เดิมควบคู่กับทยอยปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะหากจะรอให้ปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อยเสียก่อน เกรงว่าจะสายเกินไป
“ถ้าเรามองเฉพาะในมุมเศรษฐกิจล้วนๆ ควรปรับโครงสร้างก่อน แต่ในความเป็นจริง การปรับโครงสร้างเหมาะสำหรับธุรกิจหรือองค์กรขนาดใหญ่มากกว่า ส่วนเอสเอ็มอีที่มีพนักงานแค่ไม่กี่คน ยากจะทำได้ในเวลาจำกัด ดังนั้น ผมอยากให้มองในมิติเศรษฐกิจบวกสังคม และใช้โอกาสนี้ ทำทั้งสองด้านควบคู่กันไป ในขณะที่ปรับโครงสร้างหนี้ ก็ให้มีเงินใหม่ทยอยเข้ามาเสริม เพื่อให้เอสเอ็มอีมีกำลังใจ และมีทุนพอจะประคองธุรกิจต่อไปได้” นักวิชาการ กล่าว
นอกจากนั้น เนื่องจากวงเงินสินเชื่อดังกล่าวมีจำนวนจำกัด และด้วยดอกเบี้ยต่ำมาก เชื่อว่า เอสเอ็มอีจะให้ความสนใจจำนวนมาก ดังนั้น การเลือกอนุมัติควรเจาะจงไปยังภาคธุรกิจ หรือสาขาที่เชื่อมโยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้มากที่สุดเสียก่อน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินที่รัฐบาลใส่ลงไปเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นี่เป็นมุมมองอันหลากหลาย แม้ยังไม่ลงตัว แต่ล้วนมีเจตนาเหมือนกันที่อยากช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มที่ลำบากและเดิมไม่เคยได้รับโอกาส ส่วนบทสรุปสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *