xs
xsm
sm
md
lg

บสย.โคราชคึกรับปีแพะ ตั้งเป้ารุกค้ำสินเชื่อ SMEs อีสานใต้ทะลุ 4.6 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บสย.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - บสย.โคราชรุกตั้งเป้าปี 58 ค้ำสินเชื่อ “SMEs” อีสานใต้ทะลุ 4.6 พันล้าน เผยผลค้ำประกันสินเชื่อปี 57 กลุ่ม 5 จังหวัดอีสานใต้ 1,142 ราย รวมกว่า 2,400 ล้าน โคราชครองแชมป์กวาดไปกว่า 1,000 ล้าน ชี้ตัวเลขลดเนื่องจากภาวะ ศก.ชะลอตัว

วันนี้ (6 ม.ค.) ที่สำนักงานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นครราชสีมา ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บสย. สำนักงานสาขานครราชสีมา เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2558 ว่า บสย.สาขานครราชสีมาตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อปี 2558 ไว้ที่ 4,600 ล้านบาท โดยเดินหน้าเน้นการทำตลาดเชิงรุกและจัดกิจกรรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ “คลินิกค้ำประกันสินเชื่อ มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน” ร่วมกับสถาบันการเงิน หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาธุรกิจการค้า พัฒนาชุมชน ฯลฯ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS 5), โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับกลุ่ม OTOP และวิสาหกิจชุมชน, โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

โดยโครงการดังกล่าวจะฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีแรก สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธ.ค. 2558 หรือวงเงินค้ำประกันของโครงการนั้นๆ หมดก่อน แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน

ทั้งนี้ บสย.ทำหน้าที่สนับสนุน SMEs เพื่อค้ำประกันวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินในวงเงินที่เพียงพอต่อความต้องการ ถึงแม้ว่า บสย.จะไม่ได้มีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อโดยตรงแต่ได้มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

อาทิ การจัดกิจกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนและคลินิกค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือ การให้ความรู้ SMEs ด้านการค้ำประกันสินเชื่อ และเน้นให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเป็นรายบุคคล โดยการเชื่อมโยงการทำงานกับสถาบันการเงิน และคัดกรองรายที่มีศักยภาพเพื่อส่งต่อให้ธนาคารพิจารณา ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริง

รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักงานพัฒนาชุมชน, ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6, BOI, ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI), หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน ฯลฯ

นางปิยะธิดากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บสย.สาขานครราชสีมา ได้เข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุน SMEs ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และมหาสารคาม ผ่านทางสถาบันการเงินต่างๆ โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อในปี 2557 รวม 1,142 ราย วงเงินค้ำประกัน 2,415 ล้านบาท ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,400 ล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

โดย จ.นครราชสีมาได้รับการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อมากที่สุดในกลุ่ม 5 จังหวัดนี้ และในภาคอีสาน รวมจำนวน 405 ราย วงเงิน 1,072 ล้านบาท รองลงมาคือ ชัยภูมิ 244 ราย วงเงิน 419 ล้านบาท, บุรีรัมย์ 175 ราย วงเงิน 348 ล้านบาท, สุรินทร์ 179 ราย วงเงิน 299 ล้านบาท และมหาสารคาม 139 ราย วงเงิน 275 ล้านบาท

หากจำแนกตามประเภทธุรกิจ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด 5 อันดับ มีดังนี้ 1. กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ (จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์, วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง, สินค้าเบ็ดเตล็ด) วงเงิน 371 ล้านบาท

2. กลุ่มธุรกิจบริการ (ขนส่งสินค้า, รับเหมาก่อสร้าง, อู่ซ่อมรถยนต์, ร้านอาหาร) วงเงิน 296 ล้านบาท

3. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (ค้าส่งเครื่องดื่มทุกชนิด, ผลิต-จำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์, อาหารสัตว์) วงเงิน 276 ล้านบาท

4. สินค้าอุปโภคบริโภค วงเงิน 275 ล้านบาท และ 5. กลุ่มเกษตรกรรม (รับซื้อพืชไร่, จำหน่ายพืชผล-สินค้าทางการเกษตร) วงเงิน 247 ล้านบาท

สำหรับ จ.นครราชสีมาที่ได้รับอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อไป 405 ราย วงเงิน 1,072 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่หนี้เสียหรือ NPL ของ บสย.สาขานครราชสีมา อยู่ที่ประมาณ 5.7%
กำลังโหลดความคิดเห็น