xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ 23 เม.ย. ชงแพกเกจอุ้ม SMEs เสนอซูเปอร์บอร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
“เอสเอ็มอีแบงก์” เตรียมชงแพกเกจ 10 มาตรการอุ้ม SMEs อีกรอบ ดีเดย์ 23 เม.ย. เสนอที่ประชุมซูเปอร์บอร์ด ระบุไม่สามารถระบุวันคลอดแน่นอนได้ แต่อยากให้เร็วที่สุดเพื่อมาช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีเร่งด่วน เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 5 โครงการย่อย และ 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policyloan) โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% โดยให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง 3% ให้เอสเอ็มอีแบงก์ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อในโครงการดังกล่าว โดยยอมรับความเสียหายจากปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สัดส่วน 30% จากปกติรับความเสียหาย 18%

2. โครงการ MachineFund เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระบวนการผลิตให้แก่เอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ 3. มาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสามารถผ่อนปรนการวิเคราะห์สินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีที่มีประวัติในเครดิตบูโรได้ โดยพิจารณาจากความตั้งใจของผู้ประกอบการ สถานะ และการประกอบธุรกิจในปัจจุบันของเอสเอ็มอี

4. มาตรการผ่อนปรนการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้แก่ลูกค้าซึ่งขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และลูกค้ารายใหม่ที่มีศักยภาพไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย

5. มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐบาลชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีในปีแรก เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ 6. มาตรการชะลอการโอนอำนาจกระทรวงการคลังเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว 7. มาตรการทบทวนกำหนดตัวชี้วัด SFIs ให้สอดคล้องกับการดำเนินการพันธกิจเพื่อให้ชี้วัดจากผลกำไรเป็นหลัก

8. โครงการขยายสาขาของเอสเอ็มอีแบงก์ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค 9. โครงการจัดตั้ง Website เพื่อสร้างช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและกลุ่มอาเซียน+6 และ 10. โครงการศูนย์ให้บริการธุรกิจเอสเอ็มอีแบบครบวงจรเพื่อกระจายการให้บริการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าสู่การช่วยเหลือของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติในการดำเนินมาตรการข้อ 1 และ 2 ยังหาข้อสรุปไม่ลงตัว ในด้านการหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาใช้สนับสนุนในโครงการดังกล่าว ดังนั้นต้องหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง ขณะเดียวกัน อีก 8 มาตรการยังติดขัดเงื่อนไขต่างๆ เช่น กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ดังนั้นจึงได้มีการนำกลับมาแก้ไข และปรับปรุงเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดอีกครั้ง ในวันที่ 23 เมษายนนี้

นายสุพจน์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้ประกาศตลอดมาว่าให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีอย่างยิ่ง โดยยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นตอนนี้ทุกฝ่ายพยายามจะผลักดันให้มาตรการต่างๆ เหล่านี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ยังกำหนดแน่นอนไม่ได้ว่าจะออกมาใช้จริงได้เมื่อใด เพราะทุกอย่างล้วนมีกระบวนการเพื่อความรัดกุมรอบคอบ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


เอกสารเสนอ ครม. 1/2
เอกสารเสนอ ครม. 2/2
รายละเอียด 10 มาตรการ ช่วยเหลือ SMEs
กำลังโหลดความคิดเห็น