xs
xsm
sm
md
lg

ครม.จัดเต็ม คลอด 10 มาตรการด่วน! ต่อลมหายใจ SMEs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร.อ.ยงยุทธ  มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)  และพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี  ร่วมแถลงผลการประชุม ครม.
ครม.ไฟเขียวโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเร่งด่วน ประกอบด้วย 10 มาตรการ เน้นช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวก และได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ระบุติดบัญชีดำมีสิทธิ์ด้วย พร้อมเสริมด้านการตลาด และความรู้ ด้าน “ประยุทธ์” กำชับดูแลเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีหลักประกัน

ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) เสนอ ประกอบไปด้วย 10 มาตรการ ได้แก่

1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policyloan) โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% โดยให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง 3% ให้เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งสินเชื่อส่วนนี้จะมีการพิจารณาปล่อยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีประวัติแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโรด้วย

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อในโครงการดังกล่าว โดยยอมรับความเสียหายจากปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สัดส่วน 30% จากปกติรับความเสียหาย 18%

2. โครงการ MachineFund เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและกระบวนการผลิตให้แก่เอสเอ็มอี

3. มาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสามารถผ่อนปรนการวิเคราะห์สินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีที่มีประวัติแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโรได้

4. มาตรการผ่อนปรนการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้แก่ลูกค้าซึ่งขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และลูกค้ารายใหม่ที่มีศักยภาพไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย

5. มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐบาลชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีในปีแรก เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

6. มาตรการชะลอการโอนอำนาจกระทรวงการคลังเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

7. มาตรการทบทวนกำหนดตัวชี้วัด SFIs ให้สอดคล้องกับการดำเนินการพันธกิจเพื่อให้ชี้วัดจากผลกำไรเป็นหลัก

8. โครงการขยายสาขาของเอสเอ็มอีแบงก์ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค

9. โครงการจัดตั้ง Website เพื่อสร้างช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและกลุ่มอาเซียน+6

และ 10. โครงการศูนย์ให้บริการธุรกิจเอสเอ็มอีแบบครบวงจรเพื่อกระจายการให้บริการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าสู่การช่วยเหลือของรัฐ

รายงานข่าวเผยด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อให้มีเงินในการพัฒนาปรับปรุงกิจการ โดยเฉพาะในส่วนของผู้กู้ที่อยู่ในกลุ่มไม่มีหลักประกัน หรืออยู่ในกลุ่มที่ธนาคารกังวลว่าจะเกิดหนี้เสีย (NPL) รัฐบาลจะเข้าไปดูแลรวมทั้งสั่งการให้สำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้าไปจัดทำแผนพัฒนาเอสเอ็มอีต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น