กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยการยกเลิกประกาศการแจ้งข้อมูลและการขอรับบริการข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เหตุเพราะไม่ต้องการให้เกิดการซ้ำซ้อนในการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอำนาจโดยตรง ชี้กรมฯ มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการพัฒนาจนเข้าข่ายการจดสิทธิบัตร
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศและระเบียบกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การแจ้งข้อมูลและขอรับบริการข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ดูแล รักษา และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยแจ้งข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขึ้นทะเบียนข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นระบบ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำหลักฐานการแจ้งข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ประโยชน์สูงสุดในเชิงพาณิชย์และให้ก่อเกิดเป็นทุนขึ้นนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศยกเลิกการแจ้งข้อมูลและการขอรับบริการข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยดังกล่าว โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีบทบาทส่งเสริมให้มีการนำงานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่ได้รับการพัฒนาและต่อยอดจนเข้าข่ายเป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดประเภทหนึ่งมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และนำเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมต่อไป
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเฉพาะด้าน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน ได้แก่ ด้านศิลปวัฒนธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาการแพทย์แผนไทยภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ด้านพันธุ์พืช ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ลงมติรับทราบและเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยให้เป็นรูปธรรมภายใต้ระบบที่แต่ละหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เกิดปัญหาการทับซ้อนหรือขัดแย้งกันซึ่งจะเป็นปัญหาในการอ้างสิทธิในอนาคต
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะส่งเสริมการคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจนเข้าข่ายเป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ความลับทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เครื่องหมายการค้า เป็นต้น โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้กรมฯ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเป็นสินค้านวัตกรรม โดยใช้ข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอด และนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดพัฒนาดังกล่าวเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *