xs
xsm
sm
md
lg

ชูพิมพ์เขียวหนุนเอสเอ็มอีฉบับใหม่ มูลค่าโต 3 แสนล้าน ลดช่องว่างบริษัทยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
สสว.เผยแผนแม่บทส่งเสริมเอสเอ็มอีฉบับใหม่ระหว่างปี 60-64 มุ่งเพิ่มขยายจีดีพีเอสเอ็มอีไทยขยาย 1% มูลค่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ลดความเหลื่อมล้ำกับบริษัทขนาดใหญ่ พร้อมตั้งเป้าเกิดเถ้าแก่หน้าใหม่ 16,000 รายต่อปี

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า แผนแม่บทส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฉบับใหม่ หรือฉบับที่ 4 ที่กำลังร่างอยู่ เพื่อประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2560-2564 จะเน้นการเพิ่มสัดส่วนอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นปีละ 1% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 300,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อเป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีต่อจีดีพีรวมของเศรษฐกิจประเทศ ปรับลดต่อเนื่องจาก 42% มาอยู่ที่ 37% คิดเป็นมูลค่า 4.45 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างการเติบโตของเอสเอ็มอีกับธุรกิจขนาดใหญ่ห่างขึ้นทุกที ซึ่งปัญหาสะสมมาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2556 เนื่องจากเอสเอ็มอีประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเอสเอ็มอีไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสินค้า ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง

“ที่ผ่านมาสัดส่วนจีดีพีของเอสเอ็มอีไทยเคยสูงถึงระดับ 42% แต่ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชีย ก็ทำให้สัดส่วนตรงนี้ลดลงเรื่อยๆ จนถึงระดับ 37% มีมูลค่าประมาณ 4.45 ล้านล้านบาท ทั้งนี้หากผลักดันมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีตามแผนแม่บทฉบับใหม่ ก็คาดว่าในปี 2559 สัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีจะเพิ่มเป็น 38%ซึ่งในเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญสูงสุด” ดร.วิมลกานต์ กล่าว

นอกจากนั้น ในแผนฉบับใหม่ตั้งเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,600 รายต่อปี และส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นปีละ 1% ควบคู่กับการสร้างผลิตภาพแรงงานให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจาก 430,000 บาทต่อรายในปัจจุบัน

ดร.วิมลกานต์เผยด้วยว่า อีกภารกิจของ สสว.จะได้รับหน้าที่เป็นประธานส่งเสริมเอสเอ็มอีอาเซียน เตรียมจัดการประชุมกับ 10 ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพื่อหารือการจัดทำกรอบข้อตกลงเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีของแต่ละประเทศเป็น 50% ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน จากปัจจุบันสัดส่วนของไทยอยู่ที่ 30%

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น