xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กรรวมพลังดันนโยบาย “เอสเอ็มอีวาระแห่งชาติ” เกิดผลรูปธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์
4 องค์กร ประกอบด้วย ส.อ.ท. เอสเอ็มอีแบงก์ สสว. และ บสย. ร่วมเดินหน้าขยายผลแนวทางส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติให้เกิดเป็นผลอย่างแท้จริงเชิงรูปธรรม ระบุวางกรอบเป็น 3 ระยะทั้งสั้น กลาง และยาว เน้นแก้ปมลดอุปสรรคเข้าถึงแหล่งเงินทุน เร่งผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกัน ขณะที่ สสว.พร้อมนำเงินกองทุนร่วมลงทุนค้างท่อมาสนับสนุนเอสเอ็มอี

วันนี้ (27 ต.ค.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมประชุมขยายผลนโยบายการให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้วางกรอบแนวทางการส่งเสริมออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยในระยะสั้นจะนำเสนอมาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีของ 4 หน่วยงาน ซึ่งมุ่งเน้นการลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเสริมสภาพคล่องที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ เช่น การจัดโปรแกรม SMI Fast Track วงเงิน 16,000 ล้านบาท การช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมใหม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับนิติบุคคลร่วมทุน พร้อมการเสนอแก้ไขกฎหมายย่อยของหน่วยงานต่างๆ ให้ครอบคลุมและกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจนให้เป็นนิยามเดียวกันของคำว่า วิสาหกิจชุมชน เพื่อความสะดวกในการให้บริการ

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทั้ง 4 หน่วยงานได้เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมด้านสินเชื่อตามนโยบายรัฐ (Policy Loan) โดยจะขอให้หน่วยงานทางภาครัฐที่มีเงินฝากกระจายอยู่ตามสถาบันการเงินต่างๆ นำเงินมาฝากหรือให้กู้กับสถาบันการเงินของรัฐโดยให้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงนัก โดยเอสเอ็มอีที่จะยื่นกู้จะต้องผ่านเกณฑ์การคัดกรองหรือเรียกว่า SME National Champion จากองค์กรที่เป็นหน่วยร่วม เช่น สสว. เอสเอ็มอีแบงก์ บสย. และ ส.อ.ท. โดยคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 1-2 พันล้านบาท ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลในวงกว้างต่อไป

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า 4 หน่วยงานเห็นควรจะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติหลักประกันที่ค้างการพิจารณาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ออกเป็นกฎหมาย เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถนำสิ่งอื่นมาเป็นหลักประกันสินเชื่อได้นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้ หากกฎหมายดังกล่าวออกมาจะมีส่วนสำคัญช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้มากยิ่งขึ้น เพราะสามารถนำสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเช่า ภาคราชการ เอกชน สินค้า มูลค่ากิจการ และนวัตกรรม มาเป็นหลักทรัพย์ประกันสินเชื่อเพิ่มนอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผลักดันร่างกฎหมายนี้จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไปยังรัฐบาลต่อไป

ส่วนการปล่อยสินเชื่อตามแนวทาง Policy Loan ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ ส.อ.ท.ต้องการช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนวงเงินเริ่มต้น 1,000-2,000 ล้านบาทนั้น เอสเอ็มอีแบงก์พร้อมสนับสนุน หาก ส.อ.ท.เสนอกระทรวงการคลังและได้รับความเห็นชอบ ทางเอสเอ็มอีแบงก์จะจัดหาแหล่งเงินและนำมาปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี ที่ต้องการจะพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลางให้มีต้นทุนทางการเงินถูกลง สามารถแข่งขันได้ โดยปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเนชันแนลแชมเปี้ยน อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7 วงเงินไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท โดยจะต้องแยกเป็นโครงการพิเศษ หากไม่จะกระทบแผนการฟื้นฟูกิจการของธนาคาร ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐที่มีเงินฝากมากแบ่งมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อใช้ดำเนินการตามโครงการนี้ต่อไป

ด้าน ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ทาง สสว.จะเร่งปรับปรุงเงื่อนไขการร่วมลงทุน โดยนำกองทุนร่วมลงทุนที่มียอดรวม 1,700 ล้านบาทของ สสว.มาร่วมลงทุนกับกลุ่มเนชันแนลแชมเปี้ยน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 8 มิติ เช่น การจัดการ การบริหารบุคลากร อาจมีแรงจูงใจปรับการบริหารจัดการตนเอง เป็นต้น

ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ขณะนี้ บสย. มี “5 มาตรการ บสย.เพื่อ SMEs” ประกอบด้วย 1. รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 2. รัฐช่วยเหลือกลุ่มรายย่อย Micro 3. ช่วยเหลือกลุ่ม OTOP 4. มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และ 5. มาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก

นอกจากนั้น ทาง บสย.อยากเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ของ บสย. โดยให้สามารถค้ำประกันเงินกู้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกู้เงินจากนอนแบงก์เป็นจำนวนมาก แต่ บสย.ค้ำประกันได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น โดยนอนแบงก์ดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น