สสว.เผยแนวโน้มเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกในไตรมาสสุดท้าย หนุนจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้ขยายตัวได้ 0.5% เผยบอร์ดอนุมัติงบ 360 ลบ. สนับสนุน ผปก.ทั่วประเทศร่วมกลุ่มเสริมความแข็งแกร่ง
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอีบอร์ด” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมฯ มีมติรับทราบสถานการณ์ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นภายหลังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและตลาดในภูมิภาคเอเชียบางประเทศ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีในปีนี้ (2557) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5%
เนื่องมาจากแนวโน้มจีดีพีเอสเอ็มอีในไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะเอสเอ็มอีกลุ่มส่งออกมีออเดอร์ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลใน 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค.) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถส่งออกสินค้าได้ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อคิดจากมูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีในรูปของเงินบาท โดยรวมทำให้ปีนี้ จีดีพีเอสเอ็มอีทั้งปีขยายตัว 0.5% หลังจากที่ 3 ไตรมาสที่ผ่านมาติดลบมาโดยตลอด ถือว่าอัตราดังกล่าวสูงกว่าปี 2552 ที่มีความรุนแรงทางการเมือง และใกล้เคียงกับปี 2554 ที่มีอุทกภัยที่จีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวได้ 0.6%
ดร.วิมลกานต์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ มีมติอนุมัติงบประมาณ 360 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 18 กลุ่มจังหวัด 54 เครือข่าย รวมกว่า 10,000 ราย ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจในโครงการต่างๆ ดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่มีการรวมกลุ่มที่ได้รับการสนับสุนนงบประมาณในส่วนนี้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มผลิตตัวถังรถบัส จ.ราชบุรี กลุ่มผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นส่งออก และกลุ่มผู้ผลิตถุงมือจากยางพารา เป็นต้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีไปดูแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีของประเทศไทยว่ามีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกี่ประเด็น เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลการดำเนินการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเบื้องต้น สสว.ได้มีการเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลและธรรมาภิบาล ขณะที่ที่ประชุมได้มีการนำเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนร่วมทุน (venture capital) เพื่อพิจารณาการนำเงินที่มีอยู่ในกองทุนฯ ประมาณ 1,700 ล้านบาทไปส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอีในระยะต่อไป
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้คณะกรรมการฯ ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน สสว.ได้ย้ายเข้ามาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงจะต้องมีการปรับองค์ประกอบในการทำงาน รวมทั้งพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ปัจจุบันมีอยู่ 25 คน โดยอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเพิ่มผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *