แม้ไทยจะเคยผ่านวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ผลสรุปการศึกษาความสามารถในการตอบโต้กับภัยพิบัติของ SMEs ก็ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต เหตุ ผปก.ส่วนใหญ่มองไม่เห็นความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ด้าน “รอง ผอ. สสว.” ระบุต้นปีหน้าเตรียมเสนอคณะทำงานพัฒนา SMEs ระดับอาเซียน ประเดิมการหารือความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว หลังนานาชาติประเมินอาเซียนถูกประเมินเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนแอในการรับมือกับภัยพิบัติมากที่สุดในโลกแล้ว
วันนี้ (8 ต.ค.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดงานสัมมนาระดับชาติว่าด้วยเรื่อง Towoard a Resilient Business Community ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในประเทศไทย โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับศูนย์เตรียมความพร้อมแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center หรือ ADPC)
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. เผยว่า สสว.ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติซึ่งเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนในการส่งเสริม SMEs โดยจัดให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในยุทธศาสตร์การสนับสนนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินการของ SMEs ไทยภายใต้แผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 3 (2555-2559)
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนความเข้มแข็งและความสามารถเชิงการแข่งขันของ SMEs ที่ครอบคลุมถึงการส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมในการับมือกับภัยพิบัติและช่วยเหลือตอบโต้กับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา สสว.ได้ร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ และ ADCP
รอง ผอ.สสว.ยังกล่าวถึงรายงานผลวิเคราะห์เชิงลึกจากการสำรวจความพร้อมโดยการประเมินตัวเองของ SMEs ไทยจำนวน 429 รายในการรับมือกับภัยพิบัติเมื่อปี 2556 ในจังหวัดพระนครศรีอยุทธยา พิษณุโลก อุบลราชธานี เชียงราย และภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มักจะเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างพายุไซโคลน น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม และสึนามินั้น ชี้ว่า 73.2% ของผู้ตอบแบบประเมินตนเองยังไม่มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ อีกทั้งไม่มีบริษัทใดที่มีข้อมูลหรือแผนรับมือจากภัยธรรมชาติอีกด้วย ทั้งที่บริษัทเหล่านี้ล้วนเคยได้รับความเสียหายมาอย่างหนักแล้วจากภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้น
ในรายงานฉบับเดียวกันยังบอกให้รู้อีกว่า SMEs ไทยส่วนใหญ่นั้นไม่ได้รู้สึกถึงความสำคัญและความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (DRM) เนื่องจากพวกเขายังขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของแผน DRM นั้นมีมากมาย และยังสามารถปกป้องผู้คน สถานที่ และทรัพย์สินได้
อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดของรายการฉบับนี้ยังระบุด้วยว่าปัญหาความเปลี่ยนแปลงในสภาพดินฟ้าอากาศมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในรอบ 50 ปีข้างหน้า และผลกระทบจากภัยพิบัติตามธรรมชาตินับวันมีแต่จะทวีความถี่และความร้ายแรงมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย
ดร.วิมลกานต์ยังย้ำถึงผลการวิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นจากนานาชาตินั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันอาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนแอในการรับมือต่อผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลกแล้ว แต่แม้กระนั้นสมาชิกของชาติอาเซียนก็ยังคงไม่มีการหารือถึงการจัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ในการรับมือสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ภายในอาเซียนด้วยกันเอง
อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าการหารือในเรื่องดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ในระดับคณะทำงานพัฒนา SMEs อาเซียนในต้นปีหน้า เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนา SMEs ของอาเซียน และประเทศไทยจะเสนอเรื่องดังกล่าวนี้เข้าสู่ที่ประชุมในครั้งนี้ด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยอนุมัติงบประมาณเพื่อรองรับแผนการดำเนินงานภารกิจเร่งด่วนในปี 2558 ของ สสว.ไปแล้วเป็นวงเงินรวมราวๆ 1,300 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากวงเงินงบประมาณเดิมที่เคยได้รับ 500 ล้านบาทก่อนการเกิดรัฐประหาร
อย่างไรก็ตาม ในแผนดำเนินงานเร่งด่วนของ สสว.กลับไม่มีแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ SMEs แม้รอง ผอ.สสว.จะย้ำว่าแผนการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเร่งด่วนในการส่งเสริมความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ทั้งนี้ วิมลกานต์ให้เหตุผลว่ามีภารกิจอื่นที่เร่งด่วนกว่าแผนตอบโต้ภัยพิบัติ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *