ของป่าอย่าง “ไข่มดแดง” และ “เห็ด” ถูกนำมาแปรรูป บรรจุลงกระป๋อง ในชื่อตรา “วนาทิพย์” ช่วยเก็บรักษาได้ยาวนาน กลายเป็นสินค้าขายดิบขายดี ทำเท่าไรขายหมด และที่สำคัญกว่านั้น เบื้องหลังผลิตภัณฑ์นี้ คือ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร หลุดพ้นความยากจน ควบคู่กับปลุกจิตสำนึกคนท้องถิ่นดูแล “ป่าชุมชน” แหล่งวัตถุดิบจากธรรมชาติ
ลำพูน นิลไชย หนึ่งในผู้บุกเบิกกลุ่มเกษตรเพาะเห็ดค้อเหนือ ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร เล่าให้ฟังว่า เดิมในพื้นที่แห่งนี้ น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ชาวบ้านกว่า 7 ชุมชนเดือดร้อน พื้นที่ทำนาเสียหาย กระทั่ง เมื่อประมาณ พ.ศ.2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเยี่ยมราษฎร และทรงมีพระราชดำริ ให้หน่วยงานราชการ ช่วยเหลือสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชาวบ้าน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ในท้องที่ ต.ค้อเหนือ จะมีพื้นที่ป่ากว่า 3,600 ไร่ ตั้งอยู่บนสันดอนเนินทรายขนาดใหญ่ น้ำท่วมไม่ถึง เดิมชาวบ้าน ก็จะอาศัยป่าแหล่งนี้ เก็บของป่าต่างๆ โดยเฉพาะ “เห็ดโคน” กับ “ไข่มดแดง”มากินมาใช้เองอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ขาย จนเมื่อมีโครงการพระราชดำริ ทางหน่วยงานที่มาส่งเสริม เห็นว่าในท้องถิ่นเรามีวัตถุดิบของป่าอยู่จำนวนมาก เลยส่งนักวิชาการมาสอนเรื่องการแปรรูปถนอมอาหารเพื่อสร้างอาชีพให้แก่คนท้องถิ่น” ลำพูน เล่าจุดเริ่มต้น
นอกจากเรื่องความรู้แล้ว ยังได้สนับสนุนงบประมาณในการตั้งต้นประกอบอาชีพนี้ พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือ รวมกว่า 5 แสนบาท เบื้องต้นมีสมาชิก ประมาณ 20 คน ล้วนแต่เป็นแม่บ้านในท้องถิ่น ที่ใช้เวลาหลังทำนา เพื่อประกอบอาชีพเสริม
ลำพูน เล่าต่อว่า วัตถุดิบของป่าที่นำมาแปรรูป ได้แก่ เห็ดโคน เห็นเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า และไข่มดแดง ด้วยวิธีแช่ในน้ำเกลือ ขณะที่แม่เป้งใช้วิธีคั่วเกลือ โดยมีทั้งแบบบรรจุ “ขวดโหล” กับแบบบรรจุ “กระป๋อง” ทั้งสองรูปแบบขั้นตอนการทำเหมือนกันทุกประการ ต่างกันแค่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่ กับขนาดของวัตถุดิบเท่านั้น สามารถเก็บไว้ได้นานในอุณหภูมิปกติถึง 1.5 ปี
“จริงๆ แล้ว ขั้นตอนและวิธีการแปรรูปไม่ได้ยากมากนัก เริ่มจากนำของป่าที่ได้มาทำความสะอาด ลวกน้ำเดือด และบรรจุลงขวดแก้วหรือกระป๋อง แล้วเติมน้ำเกลือที่เตรียมไว้ลงไปตามปริมาณที่กำหนด แต่สิ่งสำคัญที่จะทำได้ คือ ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่พร้อม เช่น เครื่องฆ่าเชื้อด้วยความร้อน หรือเครื่องบรรจุ ฯลฯ และสถานที่ได้มาตรฐาน ซึ่งส่วนนี้ เราได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ช่วยให้สามารถตั้งต้นอาชีพขึ้นมาได้” ผู้บุกเบิกกลุ่ม กล่าว
ในการทำตลาดช่วงแรกนั้น อาศัยขายตามตลาดในจังหวัด ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ และต่อมา ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอปเด่นประจำ จ.ยโสธร พร้อมการันตีเป็นโอทอประดับ 5 ดาว ภายใต้ชื่อว่า “วนาทิพย์” ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าหลักจะเป็นร้านอาหารชื่อดังทั่วประเทศ สั่งไปใช้เป็นวัตถุดิบประกอบการอาหาร รวมถึง ขายปลีกตามงานสินค้าชุมชน เช่น โอทอปซิตี้ เป็นต้น
ผู้บุกเบิกกลุ่ม ให้ข้อมูลว่า วัตถุดิบจำพวกนี้ ไม่สามารถจะทำโรงเพาะเลี้ยงปลูกขึ้นได้ ต้องอาศัยผุดขึ้นเองตามธรรมชาติเก็บจากในป่าเท่านั้น โดยแต่ละปีจะมีผลผลิตทั้งเห็ด กับไข่มดแดง ออกเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมเท่านั้น หากฝนตกชุ่มยิ่งจะได้ทำให้ผลผลิตปริมาณมาก
ด้วยระยะเวลาที่จะเก็บได้มีเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้น เพื่อจะมีวัตถุดิบแปรรูปได้ตลอดทั้งปี หลังเก็บวัตถุดิบแล้ว ต้องนำเข้าตู้แช่เย็น แล้วค่อยๆ ทยอยนำมาแปรรูปตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยปัจจุบัน การรับซื้อวัตถุดิบ ต่อวันต้องมีเงินทุนสำรองไว้จ่ายสูงถึงกว่า 40,000-50,000 บาทต่อวัน โดยราคารับซื้อเห็ด ประมาณกิโลกรัมละ 280 บาท ส่วนไข่มดแดง ประมาณกิโลกรัมละ 300 บาท
ลำพูน เผยว่า ขณะนี้ กำลังผลิตสูงสุดที่ทำได้ เฉลี่ยประมาณ 300 ขวดต่อวัน และ 400 กระป๋องต่อวัน ราคาขายปลีกอยู่ที่ 50-300 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของวัตถุดิบ โดยปริมาณที่ผลิตได้ในปัจจุบันนี้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เรียกได้ว่า ทำออกมาได้มากเท่าไร มีลูกค้าจองคิวซื้อล่วงหน้า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านอาหารต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังมีประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ ติดต่อขอให้ส่งไปขายด้วย แต่ไม่สามารถส่งให้ได้ จากข้อจำกัดเรื่องปริมาณวัตถุดิบ
“ทุกวันนี้ กลุ่มของเรา ยังเป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทยที่ทำเห็ดโคน กับไข่มดแดง แปรรูปบรรจุขวดและกระป๋อง สาเหตุที่ยังไม่มีผู้ผลิตรายอื่นทำบ้าง เกิดจากเรื่องแหล่งวัตถุดิบ ค่อนข้างหายาก กลุ่มผู้ผลิตต้องอยู่ใกล้แหล่งป่าอุดมสมบูรณ์มากๆ นอกจากนั้น ยังต้องใช้เงินหมุนเวียนสูงในการซื้อวัตถุดิบมาเก็บสต็อกเพื่อขายได้ตลอดทั้งปี ทำให้กลุ่มอื่นๆ ยากจะมาประกอบอาชีพนี้” เธอ อธิบาย
จากยุคบุกเบิกมีสมาชิกเพียง 20 คน ทว่า ด้วยการตอบรับที่ดีของตลาด มีสมาชิกรายใหม่ๆ มาเพิ่มเติมทุกปี ถึงเวลานี้ รวม 63 คน แต่ละคนจะมีรายได้เสริม เพิ่มเติมจากการทำนา ประมาณเดือนละหลักหมื่นบาท สร้างรายได้เข้ากลุ่มหลักล้านบาทต่อปี นอกจากแบ่งให้สมาชิกกลุ่มแล้ว ยังมีแบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นกองกลางสำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายต่างๆ
อาชีพนี้ นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มแล้ว ยังขยายไปสู่การสร้างรายได้เสริมในแก่ชาวบ้านอีกนับร้อยๆ คน ใน ต.ค้อเหนือ ด้วย ซึ่งจะทำหน้าที่เข้าไปเก็บวัตถุดิบจากป่ามาขายต่อ รวมถึง เกิดประโยชน์ทางอ้อมที่ได้คือสภาพป่ากลับมาสมบูรณ์ ปริมาณของป่าเก็บได้เพิ่มมากขึ้น จากความร่วมมือของชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ช่วยกันดูแลรักษาสภาพป่า เพราะซึ่งทุกคนรู้ดีว่า วัตถุดิบของป่า ต้องเกิดจากธรรมชาติอันสมบูรณ์ หากไม่ดูแลปกป้อง วัตถุดิบก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย
โทร.087-153-7934 , 088-725-1430
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *