“สาลินี” วางมาตรการเข้ม สั่ง “เอสเอ็มอีแบงก์” ลดเงินปล่อยกู้ ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาท มุ่งช่วยรายย่อย พร้อมให้บริษัทบัญชีอิสระเข้าตรวจสอบ ลดแรงจูงใจและสกัดใบสั่งจากกลุ่มอำนาจ มั่นใจแก้หนี้เน่าสำเร็จตามเป้า
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากที่เข้ามาทำหน้าที่ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ ประมาณ 6 เดือน ยังไม่พบปัญหาถูกการเมืองแทรงแซงอย่างที่ภาพคนภายนอกมองมายังสถาบันการเงินแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ปัจจุบันยังอยู่ในสถานการณ์พิเศษ
ดังนั้น เพื่อจะแก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งอาจจะถูกใบสั่งให้ปล่อยกู้พิเศษแก่บางรายจากผู้มีอำนาจ จึงได้วางยุทธศาสตร์สำคัญแก่ผู้บริหารและพนักงานเอสเอ็มอี โดยเฉพาะฝ่ายสินเชื่อว่า นับจากนี้ เอสเอ็มอีแบงก์จะเน้นช่วยรายย่อย กำหนดมาตรฐานขชชัดเจนจะลดวงเงินปล่อยกู้ต่อรายให้น้อยลง ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ซึ่งการที่ปล่อยกู้จำนวนน้อยลงดังกล่าว จะเป็นการลดแรงจูงใจของผู้มีอำนาจจะสั่งการให้ปล่อยกู้ รวมถึง ในอนาคตหากใครที่ขึ้นมามีอำนาจดูแลเอสเอ็มแบงก์ แล้วคิดจะมาปรับนโยบายนี้ ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เหตุใดจึงไม่เน้นปล่อยกู้รายย่อย เพราะนโยบายหลักของเอสเอ็มอีแบงก์ถูกตั้งมาเพื่อช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยเฉพาะ ไม่ได้ตั้งมาเพื่อช่วยรายใหญ่
นอกจากนั้น จะให้บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบภายใน เพื่อสร้างความโปร่งใส สกัดคำสั่งให้อนุมัติสินเชื่อจากผู้มีอำนาจ จากในอดีต เจ้าหน้าที่ธนาคาร แม้จะรู้ว่า การอนุมัติสินเชื่อมูลค่าสูงๆ ให้บางรายไม่เหมาะสม แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นคำสั่งจากเบื้องบน แต่เมื่อคนภายนอกมาทำหน้าที่ตรวจสอบแทน บริษัทภายนอกจึงไม่ต้องเกรงใจใคร ขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคารก็ทำงานได้สบายใจยิ่งขึ้น
นางสาลินี กล่าวด้วยว่า จากที่ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ หรือซูเปอร์บอร์ด ได้เข้าตรวจเยี่ยมและติดตามแผนฟื้นฟูกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์นั้น ทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้นำเสนอผลการสำรวจสถานกิจการ (Due Diligence) ซึ่งมีเงินสำรองมั่นคง และพร้อมรับแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึง เสนอแผนการแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2557 เหลืออยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 38.9% และเชื่อว่า จะสามารถบรรลุเป้าที่ลดหนี้เอ็นพีแอลให้เหลือต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2558 รวมถึง นำเสนอแผนการดำเนินงานต่อไป
“ เรารู้สึกโล่งใจ เพราะท่าน (พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์) ไม่ได้ติดใจแผนฟื้นฟูกิจการ เชื่อว่าเราสามารถทำได้ตามแผน ส่วนแนวทางป้องกันปัญหาเอ็นพีแอล และการถูกแทรกแซงในอนาคตนั้น คงบอกไม่ได้ว่าจะป้องกันได้ 100% แต่ก็จะทำให้พร้อมที่สุด ด้วยการวางระบบการให้สินเชื่อที่โปร่งใส ปรับวงเงินให้กู้ให้น้อยลง และว่าจ้างบริษัทผู้สอบบัญชีอิสระมาเป็นผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อสร้างความโปร่งใส” นางสาลินี กล่าว
ในส่วนของเป้ายอดปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีในปีนี้ (2557) คาดว่ารวมแล้วจะอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากโครงการสินเชื่อพิเศษ 9 เมนู วงเงินรวมทั้งหมด 19,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้มีเอสเอ็มอีสนใจยื่นขอสินเชื่อแล้ว 6,513 ราย เป็นเงิน 10,975 ล้านบาท ธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว 4,615 ราย เป็นเงิน 4,489 ล้านบาท ส่วนใหญ่ที่ยื่นขอสินเชื่อเป็นผู้ประกอบการโอทอปต่างจังหวัด คาดว่าวงเงินที่เตรียมไว้จะใช้หมดภายในไม่เกิน 3 เดือนนับจากนี้ไป หากมีความต้องการสินเชื่อมากกว่านี้ธนาคารก็พร้อมที่จะพิจารณาจัดแหล่งเงินเพื่อนำมาขยายวงเงินสินเชื่อ และเป้าปล่อยสินเชื่อรวมในปีหน้าตั้งเป้าที่ 1.2 ล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *