xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” ดึงกรมบังคับคดี สื่อกลางเจรจาชุบชีวิตลูกหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เอสเอ็มอีแบงก์” และ“กรมบังคับคดี” ร่วมทำโครงการช่วยไกล่เกลี่ยลูกหนี้รายย่อย วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท
“เอสเอ็มอีแบงก์” ประสาน “กรมบังคับคดี” ช่วยไกล่เกลี่ยลูกหนี้รายย่อย วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน จำนวน 11,064 ราย เงินต้นรวม 7,837.92 ล้านบาท ให้ปรับโครงสร้างหนี้ เปิดโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมลด NPLs เชื่อเคลียร์สำเร็จไม่ต่ำกว่า 80% ดึงเงินคืนกว่า 6 พันล้านบาท

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์ได้ร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้รายย่อยตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี โดยเน้นเป็นลูกหนี้รายย่อย วงเงินต้นไม่เกิน 20 ล้านบาท ขณะนี้มีจำนวน 11,064 ราย คิดเป็นเงินต้นรวม 7,837.92 ล้านบาท โดยแยกเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 10,409 ราย เงินต้น 4,069.65 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 655 ราย เงินต้น 3,768.27 ล้านบาท
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
ทั้งนี้ ลูกหนี้ดังกล่าวหากไม่ดำเนินการใดๆ เลยต้องเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ รายที่ไม่มีหลักประกันต้องสืบทรัพย์ และฟ้องล้มละลาย ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นการที่กรมบังคับคดี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการไกล่เกลี่ยเข้ามาเป็นตัวกลางในการประสานเจรจากับลูกหนี้ เชื่อว่าจะดึงลูกหนี้กลุ่มนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้ และช่วยให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และอาจกลับเป็นลูกค้าของเอสเอ็มอีแบงก์อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งลูกหนี้ และทางธนาคารได้ลดหนี้เสียด้วย

นางสาลินีเผยต่อว่า การนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ จะแบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ขั้นต้นน่าจะเริ่มได้ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในต้นเดือนธันวาคม ปีนี้ (2557) และขยายไปส่วนภูมิภาคในปีหน้า (2558) ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์คาดหวังว่าจะมีลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จไม่ต่ำกว่า 80% ช่วยดึงวงเงินกลับคืนได้กว่า 5,000-6,000 ล้านบาท

“เมื่อกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยน่าจะทำให้ลูกหนี้มีความสบายใจมากขึ้น จะช่วยให้ธนาคารและลูกหนี้มีโอกาสเจรจากัน ซึ่งหากสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ธนาคารจะไม่ต้องยึดทรัพย์ลูกหนี้ เป็นการให้โอกาสลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ต่อไป ขณะเดียวกันธนาคารก็ได้ลด NPLs และทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร” นางสาลินีกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของเป้ายอดปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีในปีนี้ คาดว่ารวมแล้วจะอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเน้นปล่อยแก่รายย่อย ขณะที่ยอดหนี้ NPLs ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2557 อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 38.9% ส่วนเป้าปล่อยสินเชื่อในปีหน้าตั้งเป้าที่ 1.2 ล้านบาท โดยกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนที่จะปล่อยกู้แก่รายย่อย

ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือและเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ซึ่งทางกรมฯ มีความเชี่ยวชาญในการไกล่เกลี่ยเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ที่ผ่านมาไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 87% และในความร่วมมือกับเอสเอ็มอีแบงก์ครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าผลสำเร็จจะไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา ซึ่งลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เลย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น