xs
xsm
sm
md
lg

กรมบังคับคดีแจงผลงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาท งบฯ ปี 57

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี
อธิบดีกรมบังคับคดีแถลงผลการดำเนินงานด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของกรมบังคับคดีในปีงบประมาณ 57 พร้อมเผยแผนการดำเนินงานจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีในปีงบประมาณ 2558

วันนี้ (5 พ.ย.) เวลา 14.00 น. ที่กรมบังคับคดี น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลการดำเนินงานด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของกรมบังคับคดีในปีงบประมาณ 2557 และแผนการดำเนินการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี ในปีงบประมาณ 2558 โดยโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของกรมบังคับคดีนั้น เป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ด้านการอำนวยความยุติธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

น.ส.รื่นวดีกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีมีนโยบายในการสนับสนุนและพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายหลังพิพากษา โดยนำมาปรับใช้ควบคู่กับการดำเนินกระบวนการบังคับคดี เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการยุติการบังคับคดี ผลดำเนินการมีดังนี้ คดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 5,715 เรื่อง จำนวนทุนทรัพย์ 3,299.39 ล้านบาท, คดีที่ทำการไกล่เกลี่ยสำเร็จ จำนวน 4,699 เรื่อง จำนวนทุนทรัพย์ 2,204.40 ล้านบาท, คดีที่ทำการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำนวน 1,106 เรื่อง จำนวนทุนทรัพย์ 1,094.98 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมบังคับคดีได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลา สาขานาทวี สำนักงานบังคับคดีสระแก้ว สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี สาขาพัทยา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลำปาง สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลพบุรี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดอุดรธานี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาทุ่งสง และสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ ซึ่งมีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยทั้งหมด จำนวน 837 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 724 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86.46 ของจำนวนเรื่องที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินการไกล่เกลี่ยในปีงบประมาณ 2558 นั้น ได้แก่ 1) แผนการดำเนินงานตามโครงการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 โดย กรมบังคับคดีมีแผนงานในการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีร่วมกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เช่น สถาบันการเงิน บริษัทบัตรเครดิต บริษัทลีสซิ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เจรจาทำข้อตกลงในการชำระหนี้ ในเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยให้ความช่วยเหลือ เพื่อเป็นการลดปริมาณคดีที่เข้าสู่การบังคับคดี และเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ ส่งเสริมความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งนี้กรมบังคับคดีมีโครงการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยในระยะ 2 ไตรมาสแรก เช่น

- โครงการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยร่วมกับบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยเน้นการแก้ปัญหาการบังคับคดีในหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2557 ณ สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 2 อาคารไทยซีซีทาวเวอร์สาทร และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กำหนดจัด ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี รวมทั้งขยายการจัดโครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยไปในส่วนภูมิภาคอีกหลายจังหวัด ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันทุกรายเข้ามาเจรจาประนอมหนี้ได้

- โครงการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยร่วมกับศูนย์ประนอมหนี้ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิต โดยจะเชิญชวนลูกหนี้บัตรเครดิตที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งมีจำนวนกว่า 8,000 ราย เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ย โดยจัดกำหนดในวันเสาร์ที่ 24 และ 31 มกราคม 2558 ณ กรมบังคับคดี บางขุนนนท์

2) จัดประชุมหารือแนวทางการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีกับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมที่ถูกฟ้องคดีและศาลมีคำพิพากษาแล้วทั่วประเทศกว่า 500,000 ราย ได้เจรจาชำระหนี้กับกองทุนฯ ในเบื้องต้น มีแนวทางร่วมกันในการดำเนินการให้เป็นไประเบียบของ กยศ.ที่มีอยู่แล้ว และจะเริ่มโครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงก่อน นอกจากนั้น กรมบังคับคดียังได้เชิญชวนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นๆ เช่น บริษัทให้สินเชื่อบุคคลรายย่อย บริษัทลีสซิ่งอื่น ร่วมจัดมหกรรมไกลเกลี่ยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อยู่ระหว่างประสานงาน เพื่อที่จะได้จัดอย่างต่อเนื่องถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558

3) ร่างระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กำหนดคุณสมบัติผู้ไกล่เกลี่ย วิธีการคัดเลือก ค่าตอบแทน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้มีแบบแผนชัดเจนเป็นมาตรฐาน และเกิดความน่าเชื่อถือ และ 4) รับสมัครผู้ไกล่เกลี่ยเพิ่มเติม เพื่อให้บริการประชาชนด้านการไกล่เกลี่ยอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ไกล่เกลี่ยทั่วประเทศ 23 คน ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวม 50 แห่ง จาก 114 แห่งทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น