xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ดัน 11 อุตสาหกรรม กระตุ้นจีดีพีเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
กสอ.ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่สากลผ่านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) หวังยกระดับความสามารถการแข่งขันครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ มุ่ง 11 อุตสาหกรรมผลักดันประเทศ

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกันจัดทำแผนการยกระดับอุตสาหกรรมไทย โดยมุ่งการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอันนำไปสู่นวัตกรรม อีกทั้งการพัฒนาองค์กรด้านการจัดการความรู้ ผ่านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรม 11 ประเภท ได้แก่

1. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าการส่งออกในครึ่งปีแรกของปี 2557 รวม 492,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันรถยนต์มีอายุการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ยิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ทดแทนชิ้นส่วนที่เสื่อมอายุไป ทั้งนี้ จึงต้องเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของอะไหล่รถยนต์ได้นานมากยิ่งขึ้น

2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 58,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทักษะฝีมือแรงงานสูง สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแต่หากมีข้อจำกัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีเครื่องจักรเป็นของตนเอง จึงต้องเร่งส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรให้สามารถผลิตอัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ที่ 427,212ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นการรับจ้างผลิตในส่วน
ของอุปกรณ์และชิ้นส่วนพื้นฐาน ซึ่งต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มีต้นทุนค่าแรงที่ถูกและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้เทียบเท่าในระดับสากล

4. อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า มีมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 อยู่ที่ 29,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ เนื่องจากแรงงานไทยมีฝีมือและมีความชำนาญสูง แต่ยังขาดการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาด้านการออกแบบยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมและพัฒนาด้านแฟชั่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการออกแบบตลาดและสร้างตราสินค้าแฟชั่นไทย

5. อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน มีมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 อยู่ที่ 54,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการตลาด การลงทุน การพัฒนาด้านการออกแบบ และขาดแคลนนักออกแบบให้เหมาะสม กับตลาดสากล รวมถึงต้นทุนรวมของอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งขัน เช่น ค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ เป็นต้น จึงมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ CLMV เนื่องเป็นกลุ่มประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย ประกอบกับมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และมีค่าจ้างแรงงานที่ไม่สูงมากนัก

6. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 121,211 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นอุตสาหกรรมที่มีความประณีตและเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้นจนอาจเกิดการโยกย้ายฐานการผลิตของผู้ว่าจ้าง จึงต้องมีการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสินค้าที่เป็นตราสินค้าของไทยเองและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้มีความรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

7. อุตสาหกรรมยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 80,852 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่หากยังเสียเปรียบมาเลเซียในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตและระบบลอจิสติกส์ในการส่งออก อีกทั้งยังขาดการพัฒนาและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า และคุณค่าของยางธรรมชาติ จึงต้องเร่งพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ

8. อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกโดยรวมอยู่ที่ 5-6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศบ้านเรานั้นเอื้อต่อการเพาะปลูก ทำให้ได้วัตถุดิบที่มีมากทั้งคุณภาพและปริมาณ และเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร/ผู้ประกอบการ อีกทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตจากภาคการเกษตร เราจึงมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการจัดอบรมให้ความรู้ หรือโครงการต่างๆ ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปและพัฒนาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหาร การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการผลิต เป็นต้น

9. อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ ในไตรมาสแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกรวม 69,557 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากศักยภาพในการผลิตค่อนข้างต่ำ อีกทั้งต้องใช้เงิน
ลงทุนสูงมาก เราจึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน

10. อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ในไตรมาสแรกของปี 2557 ลดลงร้อยละ 12.4 โดยลดลงทั้งการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ หากแต่มีต้นทุนของราคาสินค้าสูง เนื่องจากค่าแรงงานและค่าขนส่ง และขาดการวิจัยและพัฒนาสินค้าต่างๆ ให้ทันสมัยเมื่อเทียบกับต่างชาติ ทั้งนี้ จึงต้องเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าโดยต่อยอดจากงานวิจัยโดยร่วมกับสถานศึกษาหรือสถาบันวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

11. อุตสาหกรรมเซรามิกและแก้ว ในไตรมาสที่ 2/2557 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นอุตสาหกรรมที่มีแรงงานมากฝีมือทำให้สินค้ามีคุณภาพสูง แต่หากขาดผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นของตัวเอง เนื่องจากเป็นผู้รับจ้างผลิต ทำให้ไม่มีอำนาจในการกำหนดหรือกำหนดราคาและสร้างมูลค่าเพิ่มจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ เราจึงจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้รับจ้างผลิตมีการสร้างตราสินค้าเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถให้วิสาหกิจสามารถแข่งขันทั้งในประเทศและระดับสากล นับถึงปัจจุบันมีวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมเป็นจำนวนกว่า 740 กิจการ โดยตลอด 15 ปีของการจัดโครงการสามารถสร้างผลิตภาพให้เศรษฐกิจไทยได้เพิ่มขึ้นกว่า 40,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2556 มีวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการกว่า 56 กิจการ สามารถสร้างมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 3,390.86 ล้านบาท ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คิดเป็นมูลค่า 459.04 ล้านบาท และมีการลงทุนขยายกิจการเป็นมูลค่า 116.40 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 243 คน สามารถลดของเสียอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิตมูลค่ากว่า 92.31 ล้านบาท มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 446 เรื่อง

ด้าน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ให้การส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดเพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่ระบบการค้าในระดับสากล และสามารถสร้างสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น