พิจิตร- 4 รัฐมนตรีลงดูเหมืองทองคำชาตรี ไม่เกิน 2 สัปดาห์ได้ข้อสรุปต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่จะหมดอายุ 13 พ.ค.นี้หรือไม่ หากไม่ต่อเหมืองทองหยุดกิจการ หากต่อใบอนุญาตสินแร่ก็ใกล้หมดสิ้นปีนี้ แต่เชื่อผู้บริหารอัคราฯ จะขออนุมัติประทานบัตรแปลงเดิมที่ค้าง เหมืองทองอาจยืดเวลาไปอีก 3 ปี
วันนี้ (23 เม.ย.) ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตัวแทน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เหมืองทองคำอัครไมนิ่ง ของบริษัทอัครา รีซอสเซสต์ จำกัด (มหาชน) อ.ทับคล้อ จังหวัดพิจิตร หลังมีกลุ่มคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่จะหมดอายุในวันที่ 13 พ.ค.นี้และขอต่อประทานบัตรเหมืองทองคำ
รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง นั่งรับฟังความคิดของประชาชนจากฝ่ายคัดค้านที่ อบต.เขาเจ็ดลูก ซึ่งชาวบ้านทั้ง 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิตร ชี้แจงว่า เหมืองทองคำเข้ามาประเทศไทยเป็นการทำลายทรัพยากร แหล่งอาหารปนเปื้อนสารพิษ มีผู้ป่วย แต่รัฐแก้ไขไม่ได้ ทำให้คนในหมู่บ้านแบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม บางรายที่มีบ้านพักอาศัยบ่อเก็บกากแร่ เจอทั้งฝุ่น ทั้งสารพิษในเลือด จึงขอให้ 4 รมต.แก้ไขชะลอใบอนุญาตทำเหมือง
ส่วนกลุ่มคนสนับสนุนเหมืองแร่ทองคำวันนี้ ผู้คัดค้างอ้างว่า ประชาชนถูกเกณฑ์มา ไม่ใช่เสียงบริสุทธิ์
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเหมืองทองคำนั่งรวมตัวปักหลักชี้แจงรัฐมนตรีภายในเหมืองทองชาตรีถึงข้อดี สนับสนุนให้เหมืองทองคำอยู่ต่อไป เนื่องจากรายได้ของครอบครัวอยู่ดีกินดี พนักงานไม่ได้เจ็บป่วย
จากนั้น คณะรัฐมนตรีได้ชมเหมืองแร่ทองคำบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้ลงมาเก็บข้อมูล ประมวลผล และรอรายงานเพื่อประกอบการตัดสินใจ คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ 4 กระทรวงจะได้ข้อสรุปตามเนื้อหาหลักๆ คือ
1.ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ซึ่งจะหมดอายุ 13 พ.ค.นี้ หากไม่ต่อทุกอย่างจะหยุดหมด เพราะขุดแร่ขึ้นมาก็ประกอบกิจกรรมผลิตทองคำไม่ได้
2.หากต่อใบอนุญาตถลุงแร่ การทำเหมืองทองคำ สินแร่ก็จะหมดประมาณสิงหาคม-กันยายน หรือหากยืดเวลาออกไป คาดว่าสิ้นปีสินแร่ก็หมดแล้ว
แต่อัคราฯ จะขออนุมัติประทานบัตรอีก 1 แปลง (ที่ค้างเดิม) หากอนุมัติทางเหมืองก็อาจต่อไปได้อีก 3 ปี
“กรณีไม่ต่อใบอนุญาตโลหกรรมโรงถลุงไม่ทำงาน เหมืองก็หยุด ส่วนพนักงาน จำนวน 1,000 คนก็ ต้องหยุด แต่จริงๆ แร่ใกล้จะหมดแล้ว ช้าสุด คอ สิ้นปี กรณีเหมืองทองคำจะต่ออายุประทานบัตร (ซึ่งเดิมได้อยู่แล้ว ยังไม่ทันขุดหมดอายุเสียก่อน) จะขอต่อใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารอัคราฯ ต้องการ พร้อมๆ กับต่อใบอนุญาตประกอบโลหะที่จะหมดอายุ 13 พ.ค.นี้” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
นับแต่การทำเหมืองทองคำตรี จ.พิจิตร ต่อเนื่อง 15 ปีมานั้น รัฐได้รับเงินค่าภาคหลวงแล้ว 3,000 ล้านบาท ส่วนปัจจุบันนี้ทุกเหมืองทองคำในประเทศไทยยังไม่มีการขอประทานบัตรใหม่ แต่พยายามขออาชญาบัตรเพื่อการสำรวจแร่ สำหรับประเทศไทย ผลิตทองคำ 4.0-4.5 ตันต่อปี นำเข้าทองคำ 300 ตันต่อปี (จากหลายประเทศ) ส่วน 4.5 ล้านตัน ที่ผลิตได้ และส่งออกไปต่างประเทศลักษณะโลหะผสม เพื่อป้อนโรงถลุงที่ได้รับการการันตี ก่อนย้อนนำเข้ากลับมาประเทศไทยลักษณะทองคำบริสุทธิ์
คุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า ในมุมของตนเคยเสนอการเยียวยามานาน แต่รัฐอาจทำได้ช้า ส่วนการแก้ปัญหาที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐเอียงไปทางเหมืองทองคำ ส่งผลทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ อีกทั้งไม่มีใครดูแลภาคประชาชน