xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ฯ จับมือ ก.อุตฯ เร่งสร้างมาตรฐานเต้าเสียบรองรับไทยศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงวิทย์ฯ (ที่4 ขวา)  ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตฯ(กลาง) ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. (ที่3ขวา)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย สวทช. ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ. จัดทำโครงการ “การจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และผลการดำเนินงานการจัดทำมาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย กฟน. และ สวทช.” เพื่อผลักดันมาตรฐานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (สมอ.) จัดทำโครงการ “การจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และผลการดำเนินงานการจัดทำมาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย กฟน. และ สวทช.”

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลและแผนงานการผลักดันมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในไทย ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อรองรับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มต้นจากโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ “มาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า” และสถานีประจุไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ารายการแรกของไทย เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงได้ สร้างมาตรฐานและความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย พร้อมส่งเสริมให้ผู้ผลิตได้เห็นทิศทางและโอกาสการผลิตและการลงทุนมากขึ้น จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดทำมาตรฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อไปจนครบถ้วน ทั้งในส่วนสถานีประจุไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญต่อไป

โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพิจารณาดำเนินการผลิตผลงานวิจัยรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีโครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่เรากำลังจะมีมาตรฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานีประจุไฟฟ้าก่อน คือเต้ารับเต้าเสียบ ซึ่งต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานอื่นๆ ที่จำเป็นจนครบถ้วน ทั้งในส่วนสถานีประจุไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ

“บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเน้นไปในด้านวิชาการและเทคนิคเป็นหลัก อาจดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น การวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา การวิเคราะห์ทดสอบ เช่น การจัดทำมาตรฐานเต้ารับเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ในบทบาทเชิงเทคนิค และส่วนอื่นๆ มีการทำวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบหรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ Battery Management System โครงสร้างน้ำหนักเบา ฯลฯ
รมว.กระทรวงวิทย์ และ รมว.กระทรวงอุตฯ ชมผลงาน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีการลงทุนในสายการผลิต เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับยานยนต์จำนวนมาก ซึ่งจะเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังต้องการการลงทุนเพื่อสร้างความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในบางส่วน แม้วันนี้จะยังไม่ได้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย แต่คาดว่าหากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังน่าจะมีการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้นภายใน 3-5 ปีข้างหน้า”

กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะสร้างความได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และในวันนี้เรามีย่างก้าวที่สำคัญเพิ่มขึ้นมาอีกก้าวหนึ่ง คือการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานีประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การประกาศมาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้จะช่วยให้ผู้ผลิตมองเห็นทิศทางที่จะช่วยในการวางแผนการผลิตและการลงทุนมากขึ้น และช่วยสกัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ มาตรฐานจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการใช้งานผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพและความปลอดภัย
ลักษณะของเต้าเสียบที่ได้มาตรฐานฝีมือคนไทย
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า “ในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญคือ ความพร้อมของสถานีประจุไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันสามารถพบเห็นสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ากันในหน่วยงานบางแห่ง แต่ยังมีปริมาณจำกัดอยู่มาก หากยังไม่เร่งกำหนดมาตรฐานสถานีประจุไฟฟ้าของประเทศไทย ในอนาคตอาจจะมีสถานีประจุไฟฟ้าที่มีความหลากหลายมากจนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้รับความสะดวกในการประจุไฟในที่สาธารณะ เพราะต้องตระเวนหาสถานีที่รองรับพาหนะของตน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้บริโภคจะต้องมีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสถานีประจุไฟฟ้าอาจจะต้องลงทุนสร้างอุปกรณ์ประจุไฟหลากหลายรูปแบบ เช่น ลักษณะและคุณสมบัติของเต้าเสียบ โปรโตคอลสำหรับการสื่อสาร ประเภทกระแสไฟ เช่น ไฟสลับ 1-3 เฟสหรือไฟฟ้ากระแสตรง เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมรองรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งหากเทียบกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเรือนที่คุ้นเคยแล้ว แทนที่จะมีเต้ารับเต้าเสียบเพียงแบบเดียวที่ใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่าง กลายเป็นต้องมีเต้ารับหลายแบบเพื่อรองรับเต้าเสียบที่มีรูปร่างต่างกัน รวมถึงสเปกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความแตกต่างกัน”

ในการนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานของประเทศ จึงได้หารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานที่จำป็น และเกิดความร่วมมือกันในการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ารายการแรกคือ “มาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่” โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่ สมอ. สวทช. การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจะมีการประกาศมาตรฐานดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ อีกทั้งจะมีการจัดทำมาตรฐานที่สำคัญในส่วนอื่นๆ ต่อไป”

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น