ก.อุตฯ เดินหน้าเสนอแก้ กม.จัดตั้งโรงงาน พ.ศ. 2535 เพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ระบุช่วยย่นระยะเวลาอนุมัติเสร็จในเวลาเพียง 15 วัน ชี้เพื่อรองรับเปิด AEC สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ลดช่องว่างทางกฎหมาย และสร้างความชัดเจน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 60
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติการลงทุนประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานสูงถึง 9,496 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 14.45 เปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วยการลงทุนและการขยายโรงงานที่เพิ่มขึ้น ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535) และเสนอเป็นแผนร่างกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกำหนดแก้ไขหลายประเด็น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบในการปรับปรุงแก้ไข และได้สั่งการเร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ภายในเดือนมีนาคม เพื่อที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาและแก้ไขก่อนเตรียมเสนอเข้า ครม.ในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีผลบังคับใช้อย่างแน่นอน
สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ การปรับคำนิยามโรงงานใหม่ การปรับปรุงหลักการการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานใหม่ การปรับปรุงแก้ไขขนาดจำพวกของโรงงาน การเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานให้สอดคล้องกับเครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิต นอกจากนี้ มีการเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบที่โรงงานมีต่อบุคคล พืช ทรัพย์ สิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละทำเลที่ตั้ง ตลอดจนเพื่อรองรับการขยายตัว โดยจากข้อมูลปี พ.ศ. 2559 สถิติยื่นขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 618 โรง คิดเป็นเงินทุน 42,618 ล้านบาท และการขออนุญาตขยายกิจการ 131 โรงงาน ทุน 32,590 ล้านบาท
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า รายละเอียดของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่เตรียมนำเสนอนั้นประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
1. หมวดว่าด้วยคำนิยาม
- ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า “โรงงาน” ใหม่ จากเดิม “โรงงาน” คิดที่ 5 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 7 คนขึ้นไป เป็น “โรงงาน” คิดที่ 25 แรงม้าขึ้นไปหรือคนงาน 25 คนขึ้นไป เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานประเภทให้บริการในชุมชนสามารถดำเนินการได้โดยง่าย ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท.
- ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า “ตั้งโรงงาน” ใหม่ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้
2. หมวดการประกอบกิจการโรงงาน/อนุญาต
- ถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวงแล้วจึงจะอนุญาตให้เปิดประกอบกิจการได้
- เนื่องจาก พ.ร.บ.เดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เสมือนไม่ให้มีการประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีย้ายโรงงาน จึงกำหนดให้การย้ายโรงงานให้ถือว่าใบอนุญาตเดิมหมดอายุในวันที่เริ่มประกอบกิจการโรงงานตามใบอนุญาตใหม่ (มาตรา 14)
- เพื่อส่งเสริมให้ประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดธุรกิจการผลิตออกไปโดยไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์เดิมเท่านั้นจึงให้สามารถเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องจักรได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งให้สามารถเพิ่มพื้นที่ของโรงงานออกไปได้
- เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการในการขออนุญาตขยายโรงงานเดิมโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มเครื่องจักร 50 แรงม้าก็ต้องขออนุญาตแล้ว จึงได้กำหนดการขยายตามสัดส่วนของเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นใหม่เป็นแบบขั้นบันได เช่น (1) เครื่องจักรเดิมมีกำลังไม่เกิน 100 แรงม้า เพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป (2) เครื่องจักรเดิมมีกำลังไม่เกิน 500 แรงม้า เพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป และต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 แรงม้า เป็นต้น ฯลฯ
- เพื่อส่งเสริมให้มีประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องกรณีขอรับโอน เช่าโรงงาน ซื้อโรงงาน ที่ดำเนินการไม่ทันภายใน 7 วัน ตามกฎหมายให้มีการขยายเวลาเป็น 15 วัน
3. หมวดบทกำหนดโทษ
- เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีที่ทำผิดเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษหรือสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่มีเพียงโทษปรับ เนื่องจากโรงงานเข้าสู่ระบบการควบคุมตามกฎหมายใหม่นี้แล้วจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อบุคคล พืช ทรัพย์ สิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานเรื่องการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน มาตรฐานเรื่องเสียงรบกวนจากการประกอบกิจการ โรงงาน มาตรฐานอากาศที่ระบายออกจากโรงงานและควบคุมวิธีการนำกากอุตสาหกรรมออกไปบำบัด กำจัด ก็ต้องมีโทษมากขึ้น
- กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตขยายเริ่มประกอบกิจการส่วนขยายโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะจึงไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ ซึ่งจะเป็นช่องว่างให้ผู้รับใบอนุญาตไม่สนใจที่จะแจ้งเริ่มประกอบกิจการส่วนขยาย ดังนั้นจึงต้องบัญญัติกรณีดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่นี้อยู่ระหว่างเปิดให้โอกาสผู้ประกอบการและประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www2.diw.go.th/legal/index.asp และโทรสาร 0-2202-3997 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นจะนำข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาเสนอคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *