นครปฐม - อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สำรวจโรงงานผลิตยางรถยนต์ในนครปฐมที่มีความพร้อมในการเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต 14,000 ตัน และเตรียมพร้อมเพิ่มสายการผลิตยางเรเดียลระยะ 3 ปีแรก ในเดือนกรกฎาคมนี้
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจโรงงานผลิตยางรถยนต์ ตามมาตรการเร่งรัดให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ณ บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตยางรถบรรทุก รถโดยสาร รถอุตสาหกรรม โดยฝีมือคนไทย ประกอบด้วย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด และบริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด บนพื้นที่รวม 400 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตยางรถเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ความสามารถในการผลิตในปี 2558 ใช้ยางพาราในการแปรรูปเพื่อเป็นยางล้อ จำนวน 22,000 ตัน ส่งออกให้แก่โรงงานประกอบรถชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศ
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากปัญหายางพาราที่มีราคาตกต่ำ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรการที่จะช่วยเหลือ และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยาง โดยช่วยแก้ปัญหายางพารา ซึ่งได้จัดตั้งทีมคณะทำงานติดตามเร่งรัด และให้คำปรึกษาแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้เริ่มประกอบกิจการได้เร็วขึ้น ซึ่งในปี 2559 จะมีโรงงานเปิดดำเนินการ และขยายโรงงาน เช่น โรงงานผลิตล้อยาง ถุงมือยาง แผ่นยาง ยางแท่ง ยางรัดของ เส้นด้ายยางยืด สิ้นส่วนยานยนต์ และอื่นๆ จำนวน 80 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ได้ดำเนินเปิดกิจการแล้ว จำนวน 7 โรงงาน และในเดือนกุมภาพันธ์นี้เปิดดำเนินกิจการอีก 9 โรงงาน คาดว่าจะมีการใช้วัตถุดิบยางเพื่อการผลิต จำนวน 33,425 ตัน สำหรับอีก 64 โรงงาน ยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งในปีนี้หากโรงงานยางมีการขยาย และเปิดกิจการครบทั้ง 80 แห่ง จะทำให้มีความต้องการใช้ยางดิบ 8.7 แสนตันต่อปี
ด้าน ดร.เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์ ประธานกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทโอตานิ กล่าวว่า สำหรับในปี 2559 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มสายการผลิตยางเรเดียลรถยนต์นั่ง โดยในระยะ 3 ปีแรก หรือ Phase 1 จะเริ่มการผลิตในเดือนกรกฎาคมนี้ และภายในปี 2562 จะมีกำลังการผลิต 6,000,000 เส้นต่อปี มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติ 20,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มผลิต Phase 2 ภายในปี 2563
สำหรับกำลังการผลิตอีก 6,000,000 เส้น โดยจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางสำหรับรถยนต์นั่งรวม 12,000,000 เส้นต่อปี คาดว่าในปี 2564 บริษัทจะมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติกว่า 76,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มโอตานิได้ลงทุน “ศูนย์วิจัยและทดสอบยางล้อโอตานิ” ใช้ในการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนทดสอบยางล้อโอตานิทุกประเภท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางล้อ ภายใต้ชื่อ “OTANI” ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในระดับนานาชาติ มูลค่าการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท
ประกอบด้วย เครื่องทดสอบการต้านทานแรงหมุน, เครื่องทดสอบความคงทนของยาง, เครื่องทดสอบความคงทนของยางที่ความเร็วสูง, เครื่องทดสอบแรงกระแทกหน้ายาง, เครื่องทดสอบการยึดเกาะระหว่างขอบยางกับกระทะล้อ, เครื่องทดสอบพื้นผิวสัมผัสของหน้ายาง และเครื่องทดสอบความคงทนของยางต่อโอโซน ปัจจุบัน เครื่องทดสอบความคงทนของยาง และเครื่องทดสอบความคงทนของยางที่ความเร็วสูงอยู่ระหว่างการทดสอบเครื่อง สำหรับเครื่องทดสอบอื่นๆ กำลังดำเนินการติดตั้งและคาดว่าจะใช้ทดสอบได้ในเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป