นครปฐม - อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สำรวจโรงงานผลิตยางรถยนต์ในจังหวัดนครปฐมที่มีความพร้อมในการเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการยืนยันพร้อมเพิ่มปริมาณการผลิต 10,000 ตัน ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
วันนี้ (27 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงงานผลิตยางรถยนต์ตามมาตรการเร่งรัดให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ณ บริษัท สวิซซ์-วัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่ ฝีมือคนไทย ในกลุ่มบริษัท ดีสโตน โดยมีบริษัทในเครือรวมทั้งสิ้น 5 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 12,000 ล้านบาท ความสามารถในการผลิตในปี 2558 จำนวน 150,000 ตัน ใช้ผลผลิตยางพาราในการแปรรูปเพื่อเป็นยางล้อ จำนวน 60,000 ตัน สามารถผลิตล้อยางได้จำนวน 6 ล้านเส้น ส่งออกไปต่างประเทศกว่า 120 ประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราการขายในประเทศร้อยละ 40 และต่างประเทศร้อยละ 60
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากปัญหายางพาราที่มีราคาตกต่ำ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรการที่จะช่วยเหลือ และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยาง โดยช่วยแก้ปัญหายางพารา ซึ่งได้จัดตั้งทีมคณะทำงานติดตามเร่งรัด และให้คำปรึกษาแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้เริ่มประกอบกิจการได้เร็วขึ้น ปัจจุบันมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางที่จดทะเบียนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งหมด 2,246 โรงงาน ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบประมาณ 4.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี 2559 จะมีโรงงานเปิดดำเนินการและขยายโรงงาน เช่น โรงงานผลิตล้อยาง ถุงมือยาง แผ่นยาง ยางแท่ง ยางรัดของ เส้นด้ายยางยืด สิ้นส่วนยานยนต์ และอื่นๆ จำนวน 80 โรงงาน โดยจะทำให้มีกำลังการผลิตยางเพิ่มขึ้น 8.7 แสนตันต่อปี
นางวัลยา วงศาริยวานิช รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ดีสโตน กล่าวว่า บริษัท สวิซซ์-วัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีการผลิตยางรถยนต์เรเดียล ซึ่งที่ผ่านมา ได้ให้การสนับสนุนภาครัฐโดยการผดุงราคายางด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น ล่าสุด ทางกลุ่มดีสโตน ได้มีการขยายโรงงานรองรับความต้องการในสินค้าที่มีการสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ และคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 10,000 ตันในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคาดว่าในปี 2559 จะสามารถผลิตยางได้ถึง 10 ล้านเส้น และจะพยายามขยายกำลังการผลิตในปี 2560 ให้มากกว่า 90,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้ทั่วโลก
ด้าน นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐม มีบริษัทผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่ จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดีสโตน จำกัด และบริษัทยางโอตานิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทย สามารถส่งออกยางไปจำหน่ายต่างประเทศทั่วโลก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้เป็นจำนวนมาก และในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
แต่เนื่องจากได้มีการบังคับใช้ตามกฎกระทรวงผังเมืองรวม ซึ่งจังหวัดนครปฐม มีพื้นที่ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อาจทำให้การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถทำได้ในบางพื้นที่ ทั้งนี้ จะได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทบทวนผังเมืองรวมของจังหวัด เพื่อให้มีพื้นที่รองรับการขยายตัวของบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในอนาคตต่อไป