ปลุกเอสเอ็มอีไทย คว้าโอกาสจากการเติบโตอย่างสูงของตลาดค้าชายแดน รองรับเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 แห่ง กสอ. เผยปั้นโครงการพัฒนาศักยภาพ ทั้ง NEC และ MDICP gzp ด้านกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมชงแผนยุทธศาศาสตร์การค้าชายแดนให้ รมต.พาณิชย์คนใหม่พิจารณา คาดมูลค่าค้าชายปีนี้ทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ได้ต้องเร่งผลักดัน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้ครอบคลุมทั้ง 12 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา กาญจนบุรี เชียงราย หนองคาย นครพนม และนราธิวาส โดย ในปี 2557 รัฐบาลจะเริ่มนำร่องในระยะแรกบนเขตเศรษฐกิจ 5 เขต คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา และจะดำเนินการอีก 5 พื้นที่ใน 7 เขตที่เหลือในปี 2559 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่ชายแดนทั้ง 12 แห่ง ถือเป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากมีฐานการผลิตที่โดดเด่น มีโอกาสขยายตัว และมีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน แรงงาน ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง รวมถึงมีการคมนาคมที่สะดวก เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตพัฒนาอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 (ม.ค.- มิ.ย.) รวมกว่า 4.8 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน โดยผู้ประกอบไทยจะต้องมีความรู้ในการทางธุรกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ทั้งในเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับ ระบบโลจิสติกส์ และการวางกลยุทธ์ด้านการตลาด และข้อควรอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ท้องถิ่น สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการที่หลากหลายเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถใช้โอกาสในการขยายธุรกิจ และลงทุน เชื่อมโยงการค้าร่วมกับสมาชิกในอาเซียนผ่านแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการกลยุทธ์การค้าชายแดน โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) เป็นต้น
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า มูลค่าการค้าชายแดน แบ่งออกเป็นการส่งออก 298,126.55 ล้านบาท และการนำเข้ากว่า 186,293.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.33 และ 5.48 ตามลำดับ โดยมาเลเซีย มีมูลค่าการค้าชายแดนกับไทยสูงสุดกว่า 140,922.82 ล้านบาท โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ยางผสม ส่วนประกอบรถยนต์ แผ่นปูพื้น และไม้แปรรูปจากยางพารา (ที่มา: กองการร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ)
สำหรับ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่มีดินแดนติดกับประเทศเมียนมาร์มีมูลค่าการค้าชายแดนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 กว่า 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.82 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสเติบโตสูงในพื้นที่ดังกล่าวได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคและ สินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิ ของประดับตกแต่งภายใน ของใช้ต่างๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน กาแฟ ของใช้ในบ้าน เป็นต้น
ด้านนายฑิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวภายหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การค้าชายแดนเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ" ว่า กรมฯ เตรียมเสนอแผนยุทธศาสตร์การค้าชายแดนต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วยการพัฒนาด้านการค้าชายแดน เน้นขยายระยะเวลาเปิดให้นานขึ้น และยกระดับจากจุดผ่อนปรนเป็นด่านถาวร การส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมนำคณะผู้แทนการค้าไปขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การพัฒนาโลจิสติกส์ กรมศุลกากร และด่านตรวจคนเข้าเมือง พยายามพัฒนาให้เป็นในรูปแบบ ONE STOP SERVICE ครอบคลุมทุกด่าน พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เน้นให้เรียนรู้มาตรการนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศมากขึ้น และการพัฒนาด้านกฎระเบียบ และอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ
โดยเฉพาะการยกระดับด่านถาวรทั้ง 5 ด่าน ประกอบด้วย ด่านแม่สอดจังหวัดตาก ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด จังหวัดมุกดาหาร และด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภายในปี 2558 เพราะทั้ง 5 ด่านถือเป็นประตูการค้าหลักที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงและเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการค้าชายแดน 561,800 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5 โดยไทยได้ดุลการค้าจากการส่งออกกว่า 340,000 ล้านบาท ส่วนนำเข้ามีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนตลอดทั้งปี คาดว่าเกิน 1.05 ล้านล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปี 2558 จะผลักดันให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *