“อยากเก็บเงินแต่ไม่เคยทำได้เลย มีวิธีไหนช่วยได้บ้างนะ” อาจเป็นคำถามที่เคยได้ยินกันในหมู่เพื่อนฝูงที่มีความตั้งใจเก็บเงินกันอย่างจริงจัง การมีความพยายามมุ่งมั่นจะเก็บออมเงินให้ได้นี้ ก็นับว่าได้เริ่มออกเดินก้าวแรกแล้ว การออมเงินนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแผนการเงินด้านต่างๆ อีกมาก และยังนำไปสู่อนาคตทางการเงินที่ดี มาดูวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยออมเงินได้มากขึ้นเร็วขึ้น และช่วยจัดการเงินออมที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพกัน
ขั้นแรก ต้องเริ่มจากการจดบันทึกรายรับรายจ่ายก่อน พอพูดถึงคำว่าจดบันทึกหรือทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและจุกจิก แต่การจดบันทึกจะช่วยให้เรารู้ว่าเงินที่เราหาได้มานั้นถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง บางคนอาจคิดว่าเราก็แค่ขอซื้อความสุขบ้างเป็นบางทีเท่านั้นเอง แต่การจดบันทึกรายรับรายจ่ายจะเป็นตัวบอกเราว่าเดือนนี้เราซื้อความสุขในปัจจุบันมากเกินไปหรือไม่ เพื่อเป็นการเตือนตัวเองให้แบ่งเงินเก็บไว้สำหรับความสุขในอนาคตบ้างเท่านั้นเอง ส่วนจะจดบันทึกด้วยวิธีอะไรก็แล้วแต่ความชอบใจ จะจดลงสมุดโน้ตเล็กๆ ที่พกติดตัวก็ได้ หรือใครสะดวกใช้มือถือโหลด Application บันทึกรายรับรายจ่ายมาใช้ได้ก็สะดวกดี
ขั้นสอง เมื่อรู้ว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไรแล้ว ขั้นต่อไปก็ลองตั้งใจจะออมเงินให้ได้ตามเป้า โดยดูว่ามีรายการไหนที่เราพอจะประหยัดลงได้หรือเปล่า เรื่องนี้ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ แล้ว ก็ต้องลองเปลี่ยนนิสัยการจับจ่ายสักหน่อย จากเดิมที่เราเคยใช้เงินจับจ่ายใช้สอยซื้อความสุขไปในทันทีที่ได้เงินมา เหลือเท่าไหร่จึงค่อยเป็นเงินออม ก็ลองเปลี่ยนมาเป็น การออมก่อนที่จะใช้จ่าย ซึ่งเริ่มต้นก็ง่ายๆ แค่พอเงินเดือนออก ลองหักเงินอย่างน้อยสัก 10% เข้าบัญชีเงินออมไปก่อน ส่วนที่เหลือนั่นคือเงินที่เราจะนำไปใช้ได้ แต่ถ้าเหลือก็ให้นำมาเป็นเงินออมเพิ่มอีกจะยิ่งทำให้เงินออมของเรางอกเงยขึ้น
บางคนอาจจะรู้สึกว่าวิธี “ออมก่อนใช้” นี้ทำใจยาก ทางสถาบันการเงินต่างๆ ในปัจจุบัน ก็มีบริการหักบัญชีอัตโนมัติ เพื่อนำเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากประจำหรือลงทุนในกองทุนรวมให้เราอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน ซึ่งจะช่วยให้เรามีวินัยการออมเงินอย่างอัตโนมัติ และทำให้เราไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคารเพื่อทำรายการทุกๆ เดือนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะออมเงินได้อย่างมีความสุข ขอแนะนำให้ จัดการกับหนี้สินระยะสั้นเสียก่อนแล้วค่อยเริ่มต้นออมเงิน เนื่องจากดอกเบี้ยของสินเชื่อระยะสั้น เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีอัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก ส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 20% ต่อปีขึ้นไป จึงต้องปิดเงินกู้ดอกแพงพวกนี้ให้หมดเสียก่อน แล้วจึงออมเงินได้อย่างสบายใจ
ขั้นสาม ในเชิงของการวางแผนการเงินก็ขอแนะนำว่าให้จัดสรรเงินออมส่วนหนึ่งของเราในรูปของสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยงและแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งจะเรียกก้อนนี้ว่าเป็น “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือ Emergency Fund” เงินก้อนนี้มีวัตถุประสงค์เผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ถ้าเกิดอะไรที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น ตกงาน ต้องซ่อมรถยนต์ หรือซ่อมบ้าน เราก็จะมีเงินสำรองไว้แล้ว จะได้ไม่ต้องขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือไปกู้หนี้ยืมสิน สำหรับจำนวนเงินที่เหมาะสมนั้น โดยทั่วไปมักแนะนำให้มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในสัดส่วนประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้เงินอยู่ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรจะกันเงินสำรองให้อุ่นใจไว้ประมาณ 60,000 บาท เป็นต้น แต่หากใครจะสำรองไว้ในสัดส่วนที่มากกว่านั้นเป็น 10 เท่าก็ย่อมได้
การวางแผนการเงินนั้นง่ายนิดเดียว ขอเพียงแค่มีความตั้งใจและมีวินัยที่จะทำเท่านั้นเอง หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
@@@@ บทความโดยทีมงาน K-Expert @@@@