หลังจากที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ AIMC ได้มีการเลือกนายกสมาคม บลจ.คนใหม่ โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 2 ปีซ้อน โดยครั้งนี้ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกอีกครั้งให้เข้ามาสานต่องานบริหารต่างๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกองทุนได้พัฒนาต่อไป สำหรับมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกองทุน รวมถึงแนวโน้มของกองทุนรวมต่างๆ ทีมงาน “ASTVผู้จัดการ” ได้รวบรวมไว้ดังนี้
วรวรรณ ธาราภูมิ กล่าวว่า 4-5 ปีที่ผ่านมานี้มีกองทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ก็มีทั้งกองทุนที่ประสบผลสำเร็จทางการตลาดแต่ไม่ประสบผลสำเร็จในการลงทุน ในขณะที่บางกองทุนประสบผลสำเร็จในการลงทุนคือให้ผลตอบแทนที่ดีแต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จทางการตลาด ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเพราะเพิ่งออกกองทุนมาไม่นานและพบกับภาวะตลาดที่ผันผวนพอดี Record ของผลการดำเนินงานในตอนเริ่มต้นไม่นานจึงไม่น่าประทับใจสำหรับผู้ลงทุน
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมกองทุนมีอายุครบ 22 ปีแล้ว กองทุนต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นจึงเริ่มมี Record ยาวนานที่พิสูจน์ได้ถึงผลสำเร็จของการลงทุนในระยะยาว ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมนำข้อมูลนี้ไปใช้ก็จะช่วยในการทำความเข้าใจกับผู้ลงทุนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์ลงทุนในกองทุนทั้งแง่ดีและแง่ร้าย กับความเข้าใจในการลงทุนที่ถูกต้องขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนเริ่มให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกกองทุนและ บลจ. ประกอบกับผู้ลงทุนเริ่มมีแหล่งข้อมูลให้สืบค้นและเข้าถึงเรื่องกองทุนรวมได้ง่าย ดังนั้น บลจ.ต่างๆ จึงน่าจะตอบโจทย์ผู้ลงทุนได้ด้วยความมั่นใจว่าแต่ละกองทุนที่นำเสนอและมีอยู่บน Shelves นั้นเหมาะสมกับลูกค้าอย่างไร และ บลจ.มีผู้จัดการกองทุนที่ชำนาญในการบริหารกองทุนประเภทนั้นๆ แค่ไหน ซึ่งประการหลังนี้คำตอบคือ Performance และประสบการณ์ของผู้จัดการกองทุนหรือทีมจัดการกองทุน กับ Investment Process และ Investment Style ของค่ายนั้นๆ
Universal Products หรือ Specialists
ที่ผ่านมานั้น บลจ.ต่างๆ มักมุ่งไปในแนวทางที่จะมีกองทุนรวมหลากหลายประเภทจนครอบคลุม แต่เมื่อพิจารณาศักยภาพกับจำนวนผู้จัดการกองทุนในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์เพียงพอ ก็อาจจะระบุได้ว่าไม่จำเป็นว่าทุก บลจ.จะต้องมีกองทุนทุกอย่าง ทุกประเภท ไม่จำเป็นจะต้องมี Product ให้ครบก็ได้ เพราะการมีความชำนาญในการบริหารกองทุนประเภทใดประเภทหนึ่งแต่เป็นจุดเด่นที่แข็งแรงมาก ก็สามารถเจริญเติบโตและมีพื้นที่ในการทำธุรกิจได้เช่นกัน
Clients Oriented
ทิศทางของอุตสาหกรรมจากนี้ไป การนำเสนอกองทุนจะเปลี่ยนจาก Product Oriented (ออกกองทุนใหม่ทีหนึ่ง ก็นำไปเสนอขายทีหนึ่ง) มาสู่ Clients Oriented (พบปะลูกค้าแล้วเสนอแนวทางในการบริหารความมั่งคั่งโดยดู Profile ลูกค้าเป็นสำคัญ แล้วค่อยจัด Products ที่เหมาะสมให้ลูกค้าพิจารณา) ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ไปในแนวทาง Wealth Advisors มากขึ้น ดังนั้น การจัดกลุ่มกองทุน การนำเสนอ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการแข่งขัน จึงน่าจะเน้นไปในรูปแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งกว่าจะสำเร็จได้นั้นก็ต้องใช้ทรัพยากรไม่น้อยในการพัฒนาความรู้กับประสบการณ์ของตัวแทนขาย ซึ่งตัวแทนขายเองก็เสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งแย่งบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีไลเซนส์ และมีฐานลูกค้าในมือไป เพราะอุตสาหกรรมยังขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่มาก อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องลงทุนกัน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ต้องการ Products แต่ต้องการคำแนะนำที่ตอบโจทย์การลงทุนให้ครบ ดังนั้น ตัวแทนขายที่ดีจึงควรทำหน้าที่เป็น Wealth Advisors ได้ในที่สุด ไม่ใช่จำกัดบทบาทตนเองเป็นผู้แนะนำการลงทุนตาม Single License ที่มีเท่านั้น
การแข่งขันในอุตสาหกรรม กับพื้นที่ธุรกิจของ บลจ.ขนาดเล็ก
ถึงแม้ว่า บลจ.ที่อยู่ในเครือธนาคารจะมีเครือข่ายที่กว้างขวางอันเป็นข้อได้เปรียบในการทำการตลาด โดยเฉพาะเครือข่ายธนาคารแม่ที่สามารถ Integrate เป้าหมายทางการตลาดกับ บลจ.และบริษัทประกันในเครือข่ายได้ แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดจนทำให้ บลจ.ขนาดเล็กต้องเสียเปรียบไปทุกเรื่อง เพราะการทำให้สาธารณชนเชื่อถือใน บลจ.แต่ละแห่งในหลายๆ มิติ จะเป็นคำตอบสำหรับธุรกิจจัดการกองทุนในระยะต่อไป
การทำให้สาธารณชนเชื่อถือ บลจ.ในหลายๆ มิติ หมายถึงเชื่อมั่นทั้งในผลการดำเนินงานระยะยาวของกองทุน รวมไปถึงทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวตนของ บลจ. และทีมผู้บริหารกับพนักงานด้วย เพราะธุรกิจของเราเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร
อุตสาหกรรมจึงควรที่จะชูนโยบายกับแนวทางบริหารกองทุน และตัวตนหรือสไตล์ที่ บลจ. เป็นให้มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์แก่ธุรกิจ และเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง
บลจ.ขนาดเล็กจึงสามารถทำธุรกิจได้ดี หากจะขยับไปสู่การสร้าง Niche Market ที่เหมาะกับความสามารถพิเศษของตนเอง แต่ละ บลจ.ไม่จำเป็นต้องวิ่งแข่งในลู่เดียวกัน หากเสียเปรียบด้านหนึ่งแต่มีจุดเด่นในอีกด้านหนึ่ง ก็สามารถชูขึ้นมาเป็นจุดที่เหมาะสมของตนได้ สามารถใช้เป็นกลยุทธ์ธุรกิจได้ เพราะตลาดกว้างและยังมี Untouched Area อีกมาก นอกจากนี้ ก.ล.ต.ก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้มีเครือข่ายอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นหน้าร้านขายกองทุนรวมได้มากขึ้น จะไม่จำกัดเฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้นอีกด้วย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมจะยังคงมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่าง บลจ.ด้วยกัน รวมไปถึงการแข่งขันจากผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ได้แก่ การระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ โดยเฉพาะการนำผลิตภัณฑ์การเงินอื่นไปเสนอขายผ่านระบบสาขาธนาคาร เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน สลากออมสิน ทองคำ เป็นต้น นอกจากนี้ การแข่งขันกับธุรกิจประกันชีวิตก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะ Annuity Products สำหรับผู้เกษียณแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2556 รูปแบบการแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์การตลาดแบบลด แลก แจก แถม ระหว่างบริษัทจัดการด้วยกันลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสมาคมออกเกณฑ์ใหม่ที่ลดมูลค่าโปรโมชันลงเหลือเพียง 0.2% จากเดิม 2.0% และไม่ให้แต้มบัตรเครดิตในการซื้อกองทุนรวม รวมไปถึงผู้ลงทุนเองก็เริ่มเข้าใจและให้ความสำคัญต่อผลงานของกองทุน มากกว่าจะมุ่งไปที่โปรโมชันเพียงอย่างเดียวแบบที่เคยเป็นมาพักหนึ่ง
ข้อดีของการเข้มงวดมากขึ้นในการใช้โปรโมชันมาชักจูงลูกค้าคือผู้ลงทุนเริ่มให้ความสำคัญต่อแนวทางลงทุนของแต่ละ บลจ.มากขึ้น สนใจการคัดเลือกหลักทรัพย์ในแต่ละค่ายมากขึ้น
อนึ่ง สำหรับ บลจ.ที่อยู่ในเครือธนาคาร แม้จะมีข้อได้เปรียบ แต่ก็มีข้อควรระวังให้มาก เนื่องจากหากบุคลากรจากธนาคารที่เข้ามาดูแลและกำหนดทิศทางของ บลจ.ไม่เข้าใจใน Spirit และจรรยาบรรณของการทำธุรกิจจัดการกองทุนที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้ากองทุน มากกว่าจะไปคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นคือธนาคารแม่ ก็อาจจะทำให้การจัดการกองทุนเป็นไปในทิศทางที่ขัดกับจริยธรรมของธุรกิจจัดการกองทุนได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ที่ทั้งผู้บริหาร บลจ. และผู้บริหารธนาคารจะต้องทำความเข้าใจกันและกันให้ชัดเจน โดยฝ่ายกำกับคือ ก.ล.ต. และ ธปท.ควรให้ความสนใจและวางแนวทางป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ
แนวโน้มของกองทุนรวมประเภทต่างๆ
1. RMF จะยังคงเป็นกองทุนชูโรงของอุตสาหกรรมและจะยังมีการเติบโตต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากผู้ลงทุนได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการลดหย่อนภาษี อนึ่ง กองทุน RMF ที่มีอยู่แล้วก็ไม่น้อย ใกล้จะเพียงพอสำหรับการเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน โดยที่ผู้ลงทุนก็เข้าใจเรื่องกองทุนรวมมากขึ้น ไม่รอคอยกองทุนใหม่ๆ ที่ราคาเริ่มต้น 10 บาทเช่นแต่ก่อนแล้ว ทั้งยังมีการทยอยลงทุนในกองทุน RMF และ LTF ตั้งแต่ช่วงต้นปีแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) กันมากด้วย จึงเป็นสัญญาณดีที่ชี้ว่านักลงทุนเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่ดีขึ้น และหากจะมีกองทุน RMF เกิดใหม่ในปี 2557 นี้ ก็น่าจะเป็น RMF ที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือหากลงทุนในประเทศก็น่าจะเป็นกองทุนที่มีเป้าหมายการลงทุน หรือเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน
2.LTF แม้ว่าในช่วงต้นปีจะมีแรงขายจากกองทุน LTF ที่ครบเงื่อนไขการลงทุนแล้วอยู่ แต่ผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งเริ่มเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการลงทุนต่อเนื่องและเลือกที่จะลงทุนต่อโดยไม่ขายคืน LTF ที่ครบกำหนด อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกองทุน LTF ใหม่ๆ นั้นไม่สามารถทำได้เพราะมีข้อจำกัด จึงมีหลาย บลจ.ที่จัดตั้งมาภายหลังเสียเปรียบเพราะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ ปี 2559 ก็จะเป็นปีสุดท้ายที่ผู้ลงทุนจะใช้เงินที่ลงทุนในปี 2559 ไปลดหย่อนภาษีได้ โดยที่มีกระแสข่าวทั้งดีและร้ายเกี่ยวกับการจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทั้ง LTF และ RMF จากคลัง จากสรรพากร ในทุกครั้งที่ราชการมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาคมจะต้องทำให้เรียบร้อยภายในปีนี้ หรือกลางปี 2558 เป็นอย่างช้า เพราะขนาดของ LTF ณ 28 มีนาคม 2557 มีถึง 222,589 ล้านบาท หากจะหดหายไปทีละมากๆ ตั้งแต่ต้นปี 2560 ตลาดหุ้นจะกระทบกระเทือนหนักได้ ดังนั้น สมาคมจึงต้องได้คำตอบโดยเร็ว เพราะเหลือเวลานับจากนี้อีกเพียง 2 ปีกว่า หากจะไม่ต่ออายุโดยปรับกฎเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมขึ้น ผู้จัดการกองทุนก็ต้องเตรียมการให้ดีว่าจะทยอยขายหุ้นอย่างไรให้กระเทือนตลาดน้อยที่สุด
ส่วน RMF ที่มีขนาด ณ 28 มีนาคม 2557 เป็น 142,489 ล้านบาท นั้น ทางสมาคมยังไม่เห็นด้วยถ้าจะไปปรับเปลี่ยนหรือยกเลิก เพราะสวนทางกับการส่งเสริมให้ประชาชนออมเพื่อตนเองในยามชราภาพ
3. Property Funds, REITs และ Infrastructure Funds
ตั้งแต่ปี 2557 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่แล้วจะไม่สามารถเพิ่มทุน และไม่สามารถจัดตั้งกองทุนใหม่ได้ เพราะ ก.ล.ต.ให้ไปใช้โครงสร้างของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts : REITs) แทน ดังนั้น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าโครงการสูง โดยเฉพาะจาก บลจ.ในเครือธนาคารขนาดใหญ่ น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า REITs ที่คาดว่าจะทยอยเกิด อย่างไรก็ตาม จากภาวะการเมืองที่ยังเป็นอุปสรรคและคลี่คลายไม่ได้ จึงคาดว่าโครงการต่างๆ อาจจะชะลอไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าธุรกิจธนาคารจะได้รับความกระทบกระเทือนจาก REITs และ Infrastructure Funds อยู่บ้าง โดยเฉพาะในส่วนลูกหนี้สินเชื่อรายใหญ่ที่มีแนวโน้มจะหันไปใช้บริการกองทุนรวมแทน
4. กองทุนตราสารหนี้เป็นประเภทกองทุนที่มีจำนวนกองและขนาดที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีการแข่งขันเพื่อดึงเงินฝากระหว่างธนาคารใหญ่ๆ โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ชนิดระบุวันครบกำหนดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก แต่ให้อัตราผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับสูงกว่า ทั้งนี้ นักลงทุนจะต้องเข้าใจเรื่องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในตราสารหนี้ และความเสี่ยงจากการออกไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากในต่างประเทศ เพราะมี Geo-Political Risk เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น เมื่อพิจารณาจากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และแนวโน้มภาวะหนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นสูง คาดว่าธนาคารต่างๆ จะเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น โอกาสที่ธนาคารจะผลักดันผู้ฝากเงินให้มาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จึงมีมากขึ้นด้วยในปีนี้ โดยอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558
5. กองทุนหุ้น ในปี 2557 แนวโน้มกองทุนหุ้นจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ลงทุนจำนวนมากเริ่มเรียนรู้การลงทุนในตลาดหุ้นผ่านกองทุน LTF และเห็นประโยชน์ของการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 30-40 ปี ซึ่งเริ่มมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินเหลือสำหรับออม น่าจะลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนหุ้นทั่วไปมากขึ้น นอกเหนือไปจากการลงทุนใน RMF/LTF ที่มีเพดาน 15% ของรายได้ที่ลงทุนอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขยายความรู้เรื่องการลงทุนระยะยาวไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ให้เขามีวินัยในการออมอย่างมีเป้าหมาย และนำเงินออมไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อุตสาหกรรมก็ยังมีพื้นที่ให้ทำธุรกิจอีกมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นความสำคัญยิ่ง ทั้งยังจะทำให้ประเทศชาติ สังคม กับครอบครัว มีความมั่นคง และมั่งคั่งในระยะยาวอีกด้วย
6. กองทุนเพื่อลงทุนยังต่างประเทศ ในปีนี้คาดว่า บลจ.หลายแห่งคงจะจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อไปในต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของ Developed Market อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ประกาศออกมาปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจใน Emerging Market กำลังชะลอตัว และการเมืองไทยก็ยังไม่มีคำตอบที่เห็นได้ชัด
สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้นักลงทุนเห็นโอกาสและสนใจลงทุนไปยังต่างประเทศที่เป็น DM เพิ่มมากขึ้น
7. Social Responsible Investment จากกระแสผลักดันในประเทศและแนวโน้มต่างประเทศ คาดว่าน่าจะเริ่มมีกองทุนรวมที่ลงทุนเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม กับรวมที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันทยอยเกิดขึ้น เมื่อมีจำนวนบริษัทที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาให้ลงทุนได้มากพอ