xs
xsm
sm
md
lg

บสย.ดันแพกเกจอุ้ม SMEs ถึงแหล่งทุน ตั้งเป้าเกิดสินเชื่อใหม่ทะลุแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. (กลาง) แถลง 5 มาตรการช่วยเหลือ SMEs
บสย.คลอดแพกเกจ 5 มาตรการอุ้มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสนอ คสช.อนุมัติด่วน แจงเน้นช่วยค่าธรรมเนียม คาดจะก่อให้เกิดสินเชื่อใหม่ในระบบ 111,000 ล้านบาท

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 57 ออกสู่ระบบน้อยมาก โดยลดลงถึงร้อยละ 50 เพราะต้องระวังความเสี่ยงจนทำให้เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนสูงถึงประมาณ 1.75 ล้านราย จากยอดเอสเอ็มอีทั้งหมดประมาณ 2.7 ล้านราย อีกทั้งยอดเคลมประกันจากหนี้เสียเริ่มสูงขึ้นใน 5 เดือนแรกของปีประมาณ 15,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดเคลมทั้งปี 56 มีเพียง 2,000 ล้านบาท และแนวโน้มปัญหาเอ็นพีแอลปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บสย.จึงได้ออก “5 มาตรการ บสย.เพื่อ SMEs” โดยจะนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาเร่งด่วน ดังนี้

1. การเสนอขออนุมัติให้รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีในปีแรก ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 (PGS 5) วงเงิน 55,000 ล้านบาท โดย บสย.ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนี้จำนวน 962.50 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประมาณ 11,000 ราย หวังก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 94,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 534,000 ล้านบาท

2. นำเสนอขออนุมัติรัฐให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการกลุ่มรายย่อย (Micro SMEs) ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดย บสย.ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนี้วงเงิน 1,150 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 50,000 ราย ช่วยสร้างอาชีพให้แก่ธุรกิจในครัวเรือนประมาณ 150,000 คน ลดต้นทุนการกู้ยืมเงินนอกระบบประมาณร้อยละ 15-30 ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 48,500 ล้านบาท กลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยมาก จึงต้องค้ำประกันความเสี่ยงประมาณ 200,000 บาทต่อราย คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1-3 บสย.ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงถึงร้อยละ 50 ของการค้ำประกัน

3. นำเสนอขออนุมัติให้รัฐให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย.ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนี้วงเงิน 1,600 ล้านบาท เพื่อหวังช่วยให้ผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 10,000 ราย การช่วยสร้างอาชีพให้แก่ธุรกิจในชุมชนประมาณ 70,000 คน คาดว่าก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 97,000 ล้านบาท โดยสินค้าโอทอปเป็นกลุ่มที่มีมาตรฐานในการผลิตสินค้า จึงมีความเสี่ยงลดลง คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5 การรับผิดชอบความเสียหายของสินเชื่อที่ร้อยละ 25 ค่าธรรมเนียมจึงลดลง ให้การค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อราย

โดย 3 มาตรการดังกล่าวเป็นการขอเงินเพื่อช่วยค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการประมาณ 3,700 ล้านบาท คาดจะก่อให้เกิดสินเชื่อใหม่ประมาณ 111,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน เข้าไม่ถึงแหล่งทุน และช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

หลังจากที่ผ่านมาได้เดินหน้าไปแล้ว 2 มาตรการ คือ 1. มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน โดยการยืดระยะเวลาการชำระออกไปอีก 6 เดือน โดยมาตรการนี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกค้าเดิม บสย.ที่จะถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ถึง 31 ธันวาคม 2557 โดยมีลูกค้า บสย.ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจำนวน 50,067 ราย คิดเป็นภาระค้ำประกันประมาณ 165,000 ล้านบาท ซึ่ง บสย.จะช่วยให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2,800 ล้านบาท มาตรการนี้ บสย.ดำเนินการเองโดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐ

2. มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ระหว่างการขอสินเชื่อ โดยมี บสย.ค้ำประกัน โดยเบื้องต้น บสย.ได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อขอพิจารณาสนับสนุนเงินค่าธรรมเนียมให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ สสว. จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีในปีแรก คิดเป็นเงินสนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันวงเงิน 262.50 ล้านบาท มีวงเงินค้ำประกันรวมไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 26,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 146,000 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น