บสย.เผยมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน 3 โครงการที่ออกมา ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นทั้งสถาบันการเงินและเอสเอ็มอี ระบุรายย่อยตื่นตัวขอใช้บริการ เชื่อช่วยหนุนยอดค้ำสินเชื่อถึงสิ้นปี 57 ทะลุ 1 แสนล้าน ก่อให้เกิดเงินหมุนในระบบ ศก.ไทยกว่า 6 แสนล้าน
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบนโยบายให้ บสย.เร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่ต่อเนื่องมานาน โดยทาง บสย.ได้ออก 3 มาตรการที่ผ่านการอนุมัติมาแล้ว ปรากฏว่า จากการลงพื้นที่พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจและตอบรับอย่างดีมาก รวมถึงมีความเชื่อมั่นในการประกอบการธุรกิจและลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันทางสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่ทาง บสย.ไปร่วมมือ เกิดความเชื่อมั่นที่จะอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นด้วย
รองผู้จัดการทั่วไป บสย.ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับ 3 มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ออกมานั้น ประกอบด้วย 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 (PGS 5) วงเงิน 55,000 ล้านบาท โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีแรก ซึ่งอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง ยอดถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมสามารถค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปได้แล้วกว่า 5,000 ล้านบาท
ส่วนมาตรการที่ 2 สำหรับกลุ่มโอทอปและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรก ปีถัดไปคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.5 บาทต่อปีของวงเงินค้ำประกัน และ 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยอีก 5,000 ล้านบาท (Micro Entrepreneurs) วงเงินค้ำประกันรวม 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีแรกให้เช่นกัน
ทั้งนี้ 2 โครงการหลังดังกล่าวผ่านการอนุมัติเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานี่เอง ทว่า ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยที่มุ่งเจาะจงให้แก่รายเล็กจริงๆ เช่น พ่อค้า แม่ค้าตามตลาดทั่วไป ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เคยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบมาก่อน ที่ผ่านมาจึงต้องอาศัยเงินกู้นอกระบบหรือบัตรกดเงินสดดอกเบี้ยแพง แต่หลังจากมีโครงการนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้มีความหวังและต้องการใช้บริการในโครงการดังกล่าว
นายวิเชษฐกล่าวต่อว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์การเมืองไม่สงบ กระทบความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ทำให้ บสย.มียอดค้ำเพียง 31,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันด้วยมาตรการกระตุ้นเอสเอ็มอีที่ออกมาช่วยสร้างกระแสตื่นตัว ทำให้ บสย.ตั้งเป้าถึงสิ้นปีนี้ (2557) จะมียอดค้ำประกันสินเชื่อได้ถึง 100,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว (2556) ที่มียอดรวมประมาณ 86,000 ล้านบาท โดยหากมีสินเชื่อในระบบกว่า 100,000 ล้านบาท จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมประเทศเกิดการหมุนเวียนอีก 5-6 เท่าตัว หรือประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาททีเดียว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ไปถึงเป้าดังกล่าว ทาง บสย.ได้ดำเนินแผนเชิงรุก เช่น จัดประชุมร่วมกับสถาบันการเงินทุกแห่ง เพื่อให้รับรู้ถึงมาตรการต่างๆ เพื่อเกิดความเชื่อมั่นในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงจับมือกับสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมของจังหวัดต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อกระจายการรับรู้ถึงความช่วยเหลือของ บสย. นอกจากนั้นยังมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี และจัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อบริการผู้ประกอบการถึงพื้นที่ เช่น ตามตลาดใหญ่ทั่วประเทศ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ทาง บสย.ยังปรับปรุงด้านงานบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงสาขาให้มีความพร้อม โดยลงทุนกว่า 35 ล้านบาท ปรับโฉม 8 สาขาทั่วประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี อยุธยา ชลบุรี สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และจะเปิดใหม่อีก 2 สาขา คือ อุบลราชธานี และหัวหิน ซึ่งทุกสาขาจะยกระดับการบริการให้ทันสมัย มีทีมงานให้คำปรึกษาได้ครบวงจร สามารถพาเอสเอ็มอีที่มาติดต่อประสานไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *