ชี้ ศก.ซบกระทบความสามารถเอสเอ็มอีชำระหนี้ หวั่นหนี้เสียเอสเอ็มอีในระบบเพิ่มสูง บสย.จับมือ สสว. เตรียมคลอดมาตรการ แจงให้ สสว. เจียดงบ 300 ล้านบาท มาช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกัน คาดกระตุ้นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อกว่า 20,000 ล้านบาท
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบภาวะขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ ระยะเวลา 90วัน เพิ่มขึ้นถึง 30% หากปล่อยไว้อาจทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบปรับสูงขึ้น ดังนั้น กระทรวงการคลังมอบหมายให้ บสย. แนวทางช่วยเหลือโดยหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีแนวคิดให้ สสว. นำเงินในการดำเนินโครงการต่างๆ บางส่วนมาช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้ในการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 300ล้านบาท โดยเงื่อนไขให้คณะกรรมการ สสว. พิจารณาเท่านั้น ไม่ต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี ( ครม.) พิจารณาในเรื่องดังกล่าว
สำหรับ บสย. พร้อมให้ความร่วมมือกับแนวทางดังกล่าว แต่ต้องดำเนินตามมติ ครม.เดิมที่กำหนดให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS 5วงเงิน 240,000ล้านบาท ในอัตรา 1.75% โดยในปีนี้ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อได้ 100,000ล้านบาท สำหรับโครงการช่วยเหลือครั้งนี้คาดว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 20,000ล้านบาท
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปสายงานธุรกิจ บสย. ให้ข้อมูลเสริมว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีดังกล่าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า โดยเน้นจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น จากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะเห็นว่าสินเชื่อแทบไม่ขยายตัว เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *