xs
xsm
sm
md
lg

ส่องกล้อง SMEs ปี57 ส่งสัญญาณอาชาเดินซึมหลังฟื้นไข้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยบทสรุปสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย ใน พ.ศ.2556 หลังผจญวิกฤตหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนโยบายปรับค่าแรง ส่งให้ยอดขายหด ขณะเดียวกันต้นทุนพุ่ง พร้อมส่องกล้องมองทิศทางเอสเอ็มอี พ.ศ.2557 ว่าจะเป็นไปแนวโน้มใด ตลอดจนตรวจแถวดูปัจจัยบวกและลบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปีม้าที่ส่อแววเศรษฐกิจจะเหงาหงอย

@@@ ระบุ ศก.ชะลอตัว ส่งเอสเอ็มอีโตแผ่ว @@@

ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ข้อมูลว่า การขยายตัวเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี หรือ GDP SMEs ในปี 2556 โต 3.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ต้นปีที่ 4-5% ซึ่งเป็นทิศทางล้อกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุ GDP โตเพียง 3% ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้โต 4-5% โดยเป็นผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ประเทศคู่ค้าต่างชาติอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาพืชผลการเกษตรหลายประเภทตกต่ำ การส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลส่งออกในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2556) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า การส่งออกของเอสเอ็มอีมีมูลค่ารวม 1,571,145.18 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกัน 9.3% นอกจากนั้น มีปัจจัยลบจากต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ส่วนการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า เอสเอ็มอีมีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ จำนวน 59,999 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 โดยเดือนตุลาคม มีกิจการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ จำนวน 5,262 ราย กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน มีจำนวน 11,070 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 โดยเดือนตุลาคม มีกิจการที่ยกเลิกจำนวน 1,581 ราย กิจการที่ยกเลิกสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลการวิจัย ระบุว่า อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคชะลอตัว เกิดจากครัวเรือนเงินเก็บน้อยลง และมีหนี้สินเพิ่ม เพราะนำไปผ่อนชำระรถยนต์คันแรก ประกอบกับค่าครองชีพพุ่งสูง ขณะที่ครึ่งปีหลังเกิดวิกฤตทางเมืองทำให้ผู้คนเก็บออม งดการจับจ่าย ทำให้เงินในระบบไม่สะพัดและเติบโตเท่าที่ควร

@@@คาดปี 57 แค่ฟื้นไข้ เอสเอ็มอีโตบอนไซ@@@

ผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของ SMEs ในปัจจุบัน ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยมีสัญญาณจากตัวเลข ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2556 เกิดการขยายตัวของยอดการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์นั่ง พาหนะเพื่อการพาณิชย์ ซีเมนต์ผสม ฯลฯ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงในช่วงปลายปี

สำหรับแนวโน้มปี 2557 คาดการขยายตัวของเอสเอ็มอี SMEs (GDP SMEs) สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศ โดยคาดมีอัตราขยายที่ 4.3-4.7% เป็นผลมาจากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภคภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มคงที่ในระดับต่ำซึ่งสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นตามงบประมาณปี 2557 ที่เพิ่มขึ้น 5% ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ผลจากการเติบโตของการลงทุนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 9.9% จากโครงการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับลด QE ของสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าขยายตัว โดยเฉพาะด้านบริการที่สำคัญคือการท่องเที่ยวของประเทศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 7.2%

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดอัตราเติบโตใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 4.5% ภาคการส่งออกไทยจะเติบโตถึง 7% ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ส่งผลภาคธุรกิจส่งของไทยเติบโตขึ้น แต่อาจไม่เทียบเท่าปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดในประเทศ จะฟื้นตัวขึ้น หากการสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว มีการจัดตั้งเลือกตั้งได้รัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยคาดว่าจะทำให้ภาพรวมการลงทุนจากต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลโดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเอสเอ็มอี ยังคงเป็นไปในทิศทางคล้อยตามเศรษฐกิจรวมของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะจะเติบโตเล็กน้อยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจรวมชะลอตัว โดยมีอัตรา GDP SMEs เติบโตอย่างมากที่สุดประมาณ 4-4.5%

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า อีกปัจจัยสำคัญที่จะหนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คือ การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล และกระแส 3จี เพราะจะมีเงินในการประมูล และการลงทุนกว่า 1-2 หมื่นล้านบาทเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจเทคโนโลยีและสื่อสาร ตลอดธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินดังกล่าว

@@@ชี้ปัจจัยเสี่ยง ศก.โตซึม ยอดขายหด หั่นสายป่วนสั้นจู๋@@@

เมื่อถามไปถึงปัจจัยเสี่ยงในปีหน้านั้น ดร.ปฏิมา ระบุไปที่ปัจจัยภายนอก ซึ่งเศรษฐกิจโลกเพิ่งจะฟื้นตัว ทำให้การเติบโตยังเป็นไปลักษณะชะลอตัว อีกทั้ง ยังมีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังคงเติบโตด้วยดี แต่อาจมีผลทางอ้อม กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และความจับจ่ายของผู้บริโภค

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองปัจจัยเสี่ยง ไปที่ทิศทางต้นทุนการผลิต ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) ภาคครัวเรือน ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่ง ที่ราคาจะขยับขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นไป อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย รวมถึง อัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ควรต้องระวัง นอกจากนั้น การจับจ่ายของผู้บริโภคยังชะลอเช่นเดิม จากภาระหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพสูง

อีกปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตานั้น ดร.เกียรติอนันต์ ชี้ไปเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินของเอสเอ็มอีจะสั้นลง จากเดิมเอสเอ็มอีจะมีเงินสำรองไว้เป็นทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องประมาณ 30-45 วัน แต่ปี 2557 จะลดเหลือ 15-30 วัน สาเหตุเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้ยากขึ้น และกำไรลดลง เมื่อประกอบกับเอสเอ็มอีมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย จากทั้งนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงาน และนโยบายด้านพลังงานที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เหล่านี้ประกอบกันทำให้สายป่านของเอสเอ็มอีจะสั้นลด
เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME)
ขณะที่นางสาวเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME) ที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโอทอปกว่า 8,000 รายทั่วประเทศ กล่าวว่า ในมุมผู้ประกอบการกังวลปัญหาการเมืองที่ยังหาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนพื้นฐานต่างๆ สะดุดลงไป รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก ยังเป็นปัญหาซ้ำซากของเอสเอ็มอีไทย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น