xs
xsm
sm
md
lg

กรณีขึ้นราคาแอลพีจี :“ไปไหนมา สามวาสองศอก” / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

ถ้าธุรกิจก๊าซแอลพีจีเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม (ตามมาตรา 47 และ 84 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550) ก็คงไม่มีผู้บริโภครายใดออกมาโวยวายอะไร หากมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งขึ้นราคาอย่างไม่มีเหตุผล เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีกว่า

แต่กรณีการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีซึ่งมีมูลค่าการตลาดร่วมเกือบ 2.4 แสนล้านบาทคราวนี้นั้น เป็นการผูกขาดรายเดียวโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เท่านั้น บริษัทก๊าซที่มีชื่ออื่นๆ ต่างออกไปนั้นเป็นเพียงบริษัทปลายน้ำไม้ประดับเท่านั้น ดังนั้น การร้องเรียนอย่างเป็นขั้นตอนจึงได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน รัฐมนตรีพลังงาน และนายกรัฐมนตรี และเมื่อการร้องเรียนไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ เรื่องราวฟ้องร้องจึงได้ขึ้นไปถึงศาลปกครอง โดยผู้ร้องก็คือ ตัวแทนของภาคประชาชนซึ่งได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์ผู้บริโภคแห่งประเทศไทย และ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล เป็นต้น

ในบทความนี้ ผมจะนำบางประเด็นที่เป็นการตอบไม่ตรงคำถามของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค (ที่ไม่มีทางเลือก) มาเล่าให้ผู้บริโภคทราบดังต่อไปนี้ครับ

เรื่องที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง” นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญในมาตราเดียวกันนี้ยังได้กำหนดว่า “ให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณา เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการตรวจสอบ …”

เท่าที่ผมได้ติดตามข่าวสารพบว่า ตัวแทนผู้ถูกร้อง (นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกรรมการอิสระของบริษัทพีทีทีจีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.ด้วย) ได้ตอบต่อศาลปกครองว่า ได้มีการแถลงข่าวแล้ว จึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นความจริง และให้ความเห็นแล้ว

ในความเห็นของผม การแถลงข่าวดังกล่าว ไม่เข้าข่าย “การให้ข้อมูลที่เป็นความจริง” เพราะอาจจะเป็นข้อมูลเท็จก็ได้ และไม่ใช่การ “ให้ความเห็น” หรือเป็นการ “ตรวจสอบ” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ผมเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน” เป็นอย่างมาก จนถึงกับได้จัดให้เป็นหมวด หรือส่วนที่ว่าด้วยแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเป็นการกระทำที่เรียกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ หรือการโฆษณาเท่านั้นเอง

ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หารือกันบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นความจริงที่ยึดหลักการความรับผิดชอบ (Principles of Accountability) ซึ่งมี 4 องค์ประกอบแต่อย่างใด

หลักการดังกล่าวคือ (1) มีความโปร่งใส (2) การมีส่วนร่วม (3) มีเสียงสะท้อนเชิงรุก (Proactively seeking feedback) ซึ่งผู้บริโภคสามารถสะท้อนความคิดเห็นในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงได้ เสียงสะท้อนจากผู้บริโภคต้องถูกนำไปปฏิบัติและถูกแจ้งให้ผู้ร้องทราบ (แต่หาไม่ได้เลยจากกระทรวงฯ) และ (4) มีการติดตาม ประเมินผล และการเรียนรู้

เรื่องที่สอง ภาคประชาชนได้ตั้งคำถามว่า ขอให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยข้อมูลว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.และใช้ก๊าซแอลพีจีมากที่สุดในบรรดา 4 ภาคส่วน คือ ภาคครัวเรือน (Cooking) ภาคยานยนต์ (Automobile) ภาคอุตสาหกรรม (Industry) และภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) ได้ซื้อก๊าซแอลพีจีไปจากโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซในราคาเท่าใด ขอให้เปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกับการขายให้แก่ภาคส่วนอื่นๆ

แต่แทนที่กระทรวงพลังงานจะตอบสนองอย่างมีความรับผิดชอบ ปรากฏว่า กระทรวงฯ ก็ยังไม่ยอมให้ข้อมูลตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง แต่กลับให้ข้อมูลราคาของภาคครัวเรือนส่วนที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังตารางทั้ง 2 ที่ผมได้แนบมานี้ (ตารางแรกเป็นก่อนขึ้นราคาเมื่อ 30 สิงหาคม 56 และตารางที่ 2 เป็นหลังการขึ้นราคา 10 กันยายน 56 โปรดดูที่คอลัมน์ขวามือสุดซึ่งเป็นราคาขายปลีก)


อนึ่ง โปรดสังเกตว่า ภาคอุตสาหกรรม (Industry) ได้ถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันถึงกิโลกรัมละประมาณ 12 บาท (คอลัมน์ที่ 4 และ 6 รวมกัน) แต่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งไม่ปรากฏในตารางนี้) ได้ถูกเรียกเก็บ (ตามมติ ครม.) เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น

ผมอยากจะขอทิ้งไว้เป็นการบ้านให้แก่ท่านผู้อ่านช่วยกันคิดว่า ทำไมกระทรวงพลังงานจึงไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าว แต่ได้ใช้วิธีการที่เรียกตามสำนวนไทยว่า“ไปไหนมา สามวาสองศอก” ทั้งเรื่องที่หนึ่ง และเรื่องที่สอง

อย่างไรก็ตาม จากการตอบกระทู้สดของ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล (28 พ.ย.2555) โดยรัฐมนตรีพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ทำให้สังคมได้รับทราบความจริงที่เจ็บปวดว่า “ในอดีตราคา 16.20 บาทต่อกิโลกรัม” ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุกภาคส่วน แม้ในเวลาต่อมา ข้าราชการของกระทรวงพลังงานได้ออกเอกสารนับล้านชุด (เพื่อแจกจ่ายแม้กระทั่งตามป้ายรถเมล์) ว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่บนความจริงคนละฐานกัน โดยบอกว่าขายให้ในราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 22.30 บาท (ดังตาราง) จึงยิ่งสร้างความเคลือบแคลงใจมากขึ้นไปอีก คือทำไมจึงไม่ใช้แบบฟอร์มเดียวกันกับภาคส่วนอื่นๆ

และมีเหตุผลอะไรที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ที่มีเขี้ยวลากดิน) จึงยอมซื้อแพงกว่า และมีเหตุผลอะไรที่ไม่จ่ายภาษีสรรพสามิตและอื่นๆ เหมือนชาวบ้านเขา

ยิ่งคิดก็ยิ่งกังขาครับ มันใหญ่มาจากไหนกันจึงไม่ยอมทำตามกฎหมายของบ้านเมือง

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องที่ฮาไม่ออกสำหรับผู้บริโภคครับ กระทรวงพลังงานได้อ้างเหตุผลในการขอขึ้นราคาครั้งนี้ว่า “เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม” ระหว่างผู้บริโภคน้ำมันที่ถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วนำเงินดังกล่าวมาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีให้มีราคาถูกลง ในช่วง 4-5 ปีมานี้ เงินกองทุนได้ถูกใช้อุดหนุนแอลพีจีไปแล้วถึง 1.2 แสนล้านบาท

แต่หลังจากมีการขึ้นราคาแอลพีจีไปแล้ว 10 วัน พบว่า การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็ยังคงเป็นเช่นเดิม และในราคาเท่าเดิม ตารางข้างล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบราคาน้ำมันชนิดต่างๆ เมื่อก่อนขึ้นราคา (วันที่ 30 สิงหาคม 2556) กับหลังการขึ้นราคาวันที่ 10 กันยายน 2556 (เพื่อไม่ให้ตารางยาวเกินไป ผมได้ตัดคอลัมน์ที่สำคัญน้อยทิ้งไปครับ) กรุณาดูเปรียบเทียบกันไปนะครับ

โดยอาศัยข้อมูลการบริโภคในปี 2555 พบว่า ในเดือนแรก มูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ในภาคครัวเรือนก็ประมาณ 1,270 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,540 ล้านบาทในเดือนที่สอง จนกระทั่งเดือนที่สิบสอง (เดือนเดียว) ก็ประมาณ 15,240 ล้านบาท

อดีตผู้ค้าก๊าซคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ถัง 15 กิโลกรัม ตามประกาศของกระทรวงขึ้นได้ 7.50 บาทต่อถัง แต่เอาเข้าจริงเขาขึ้นราคา 10 บาท บางรายถึง 20 บาทต่อถัง แล้วมีอะไรไหม?

นี่เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นนะครับ และไม่ทราบว่าเงินจำนวนนี้จะเข้ากระเป๋าพ่อค้า รัฐ และกองทุนน้ำมันในสัดส่วนเท่าใด สิ่งเหล่านี้กระทรวงพลังงานไม่เคยเปิดเผยให้ประชาชนทราบเลย


จากตารางทั้งสอง เราพบว่า ในคอลัมน์ที่ 4 ซึ่งเป็นรายการกองทุนน้ำมัน (เขียนว่า OIL FUND(1)) ยังคงเหมือนเดิมทุกประการครับ คือ น้ำมันทุกประเภทยังคงถูกเรียกเก็บเงิน (และได้รับการชดเชย ในกรณีมีเครื่องหมายลบ) เท่าเดิมทั้งก่อนและหลังการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี

เราจะสรุปเรื่องนี้ว่าอย่างไรดีครับท่านผู้บริโภคที่ถูกปิดบังข้อมูลที่เป็นความจริง และไม่ได้มีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บางท่านอาจคิดว่า ที่กระทรวงฯ ยังคงเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันต่อไปก็เพราะว่ากองทุนฯ ติดลบอยู่ ข้อมูลที่ผมเคยเข้าไปดูในเว็บไซต์พบว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันไม่ได้ติดลบแล้วครับ

เรื่องที่สี่ จากบทความเรื่อง “ปรับโครงสร้างราคา LPG ก้าวที่กล้าพลังงานไทย” หน้าที่ 7-11 ในวารสารนโยบายพลังงาน จัดทำโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (ฉบับที่ 99 มกราคม-มีนาคม 2556) ความตอนหนึ่งในย่อหน้าแรกกล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซสูงถึงร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการใช้ LPG ทั้งหมดของประเทศ”

สิ่งที่กระทรวงพลังงานกำลังกระทำอยู่ก็คือ การโน้มน้าว หรือประชาสัมพันธ์ (ไม่ใช่การมีส่วนร่วมของประชาชน) ให้ประชาชนยอมรับการขึ้นราคาครั้งนี้ ก็คือ การบิดเบือนข้อมูลโดยการสร้างตัวเลขสัดส่วนการนำเข้าให้สูง เพราะเชื่อกันว่าราคาในตลาดโลกสูงกว่าราคาที่ผลิตจากภายในประเทศ

โดยอาศัยข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (ตารางที่ 2.4-2Y) แล้วนำมาคำนวณหาร้อยละของแหล่งที่มาเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2555 (ดังตารางที่แนบมานี้) พบว่า สัดส่วนการนำเข้ามีค่าอยู่ระหว่าง 0.09 (หรือ 9%) จนถึง 0.26 (หรือ 26%) เท่านั้น และใน 2 ปีสุดท้าย สัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 21 ถึง 23% เท่านั้น ไม่ใช่ 30%

เรื่องที่ห้า ภาคประชาชนตั้งคำถามว่า ในขณะที่ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตจากแหล่งสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งในประเทศไทยมีการซื้อขายกันที่กิโลกรัมละ 9-10 บาท แต่ทำไมข้อมูลของกระทรวงพลังงานจึงบอกว่า “โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้วัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยต้นทุนอยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐต่อตัน” หรือกิโลกรัมละประมาณ 17.60 บาท กระทรวงพลังงานไม่เคยตอบคำถามนี้แม้แต่แอะเดียวครับ

สรุป ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นภาระของศาลปกครองที่จะต้องเรียกข้อมูลที่เป็นความจริงพร้อมหลักฐานจากผู้ถูกร้องเพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นธรรม ถ้ามันมีเหตุผลอันควรจริงก็จะขึ้นราคาก็ขึ้นได้ ภาคประชาชนไม่คัดค้าน แต่หากไม่มีเหตุผลเพียงพอ ผู้ถูกฟ้องก็ควรจะต้องได้รับการลงทัณฑ์ให้เข็ดหลาบเสียบ้าง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น