ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ปี 57 เศรษฐกิจไทยโต 4.5% ภาคธุรกิจส่งออกดาวรุ่ง เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มาแรง อัญมณีเครื่องประดับสหรัฐฯ ยังตอบรับดี ส่วนชิ้นส่วนยานยนต์คาดเป็นฮับอาเซียนได้ ชี้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และดิจิตอลรุกคืบตามเทรนด์ธุรกิจทีวีดิจิตอลโต รับกังวลราคาน้ำมัน ก๊าซ ผันผวน หวั่นโตไม่ตามเป้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลการวิจัยเทรนด์เศรษฐกิจไทยปี 2557 ว่าจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 4.5% จากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ส่งผลภาคธุรกิจส่งของไทยเติบโตขึ้น แต่อาจไม่เทียบเท่าปี 2555 ที่ผ่านมา เนื่องจากปี 2555 เป็นแห่งการซ่อมสร้าง มีการใช้จ่ายเงินในครัวและภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในวงเงินจำนวนมาก ขณะที่ช่วงปลายปีมีนโยบายรถยนต์คันแรกส่งให้เศรษฐกิจไทยคึกคัก มีเงินทุนหมุนในระบบ
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2557 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นปีแห่งความท้าทาย แม้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มฟื้นตัว แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 4.5% โดยภาคการส่งออกไทยจะเติบโตถึง 7% ขณะที่ตลาดในประเทศ จะฟื้นตัวขึ้น หากการสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว มีการจัดตั้งเลือกตั้งได้รัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยคาดว่าจะทำให้ภาพรวมการลงทุนจากต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ควรระวัง คือ ธุรกิจที่เน้นทำตลาดในไทย ควรปรับตัวให้เร็วทันต่อสถานการณ์การเมืองไทย และความผันผวนในเรื่องราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ในปี 57 อาจจะปรับตัวขึ้นลงตามเศรษฐกิจโลก
ขณะที่เศรษฐกิจในปี 2556 อยู่ในภาวะชะลอตัว และกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ มีการจับจ่ายใช้สอยแบบจำกัด หลังหนี้สินครัวเรือนเริ่มส่งสัญญาณในการผ่อนชำระรถยนต์คันแรก กอปรกับค่าครองชีพพุ่งสูง ภาคส่งออกยังติดลบ ขณะที่ครึ่งปีหลังเกิดวิกฤตทางเมืองทำให้เศรษฐกิจยิ่งถดถอย ผู้คนเก็บออม งดการจับจ่าย ทำให้เงินในระบบไม่สะพัดและเติบโตเท่าที่ควร
ส่วนธุรกิจดาวรุ่ง ในภาคการส่งออก ปี 2557 นั้น คาดว่า
1. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จากเดิมผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะต้องพึ่งพาธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มหันมาผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ส่งผลให้อุปกรณ์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ชะลอตัวลงบ้าง แต่ผู้ประกอบการยังได้ภาคผลิตโทรศัพท์มือถือมาทดแทน จึงถือว่ายังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ หากผู้ประกอบการหมั่นปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้สอดคล้องกับเทรนด์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2. เครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่า ตู้เย็น และโทรทัศน์ จะฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งภาคการส่งออกและการจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะในปี 57 จะมีการแข่งขันบอลโลก ส่งผลต่อยอดขายโทรทัศน์โตประมาณ 40% โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่จะช่วยดันยอดขายเครื่องไฟฟ้าโตต่อเนื่อง
3. อัญมณีและเครื่องประดับ อีกหนึ่งธุรกิจที่จะน่าจับตา เพราะคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และน่าจับตามอง แต่ต้องระวังในเรื่องราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับผันผวน เช่น ทองคำ และเงิน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาต้นทุนได้
4. เคมีภัณฑ์ ได้แก่ ปุ๋ย เคมีสำหรับทำเครื่องสำอาง และเคมีในภาคอุตสาหกรรม เป็นผลสืบเนื่องภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น เคมีภัณฑ์ก็จะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง
5. ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จากผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตจึงไม่ใช่เรื่องยาก คาดว่าในปี 2557 ตลาดต่างประเทศจะตอบรับดี มีการสั่งนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหม่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง คาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถปิคอัพน่าจะได้รับการตอบรับดี
6. สินค้าเกษตร และสัตว์น้ำแปรรูป จากวิกฤตกุ้งที่ส่งออกไปจากไทยเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา พบปัญหาสารเคมีปนเปื้อน ทำให้หลายประเทศผู้นำเข้าระงับการสั่งซื้อ แต่คาดว่าในปี 2557 ผู้ประกอบการปรับได้และมีการทำตลาดต่างประเทศอีกครั้ง ประกอบกับเงื่อนไขของอียูที่กำหนดการนำเข้ากุ้งจากไทย เริ่มมีการผ่อนปรนเงื่อนไขลง ทำให้ตลาดส่งออกสดใส ส่วนสินค้าเกษตร อย่าง มันสำปะหลัง ประเทศจีนมีการนำเข้าเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปแปรรูปต่อ คาดว่าจะมีอนาคตสดใสเช่นกัน
7. ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นธุรกิจใหม่ที่มาอนาคต เพราะสามารถดึงเงินจากชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากได้ โดยรายได้จากส่วนนี้จะมีประมาณ 10% ของอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2557 แต่ต้องมีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล สปา ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม เพื่อให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่มีกำลังซื้อสูง ควรจัดอาหารฮาลาลไว้บริการ ส่วนของฝากของที่ระลึก ก็ควรเน้นเรื่องสุขภาพ เช่น น้ำมันนวดหอมระเหย และลูกประคบ เป็นต้น
8. ธุรกิจด้านไอที และดิจิตอล ที่ผ่านมาเทคโนโลยีเข้าสู่โลกดิจิตอลมากขึ้น โดยเฉพาะดิจิตอลทีวี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2557 โดยมีทีวีเพิ่มเข้ามาอีก 24 ช่อง ส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ การผลิตรายการโทรทัศน์, Home Shopping ทำให้เกิดการบริโภคหลายทาง รวมถึงภาคธุรกิจโลจิสติกส์ ก็ได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย นอกจากนี้ยังธุรกิจเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) จะเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดในปีหน้าธุรกิจด้านนี้จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงภาคธุรกิจปี 2557 ได้แก่
1. ทิศทางต้นทุนการผลิต ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) ภาคครัวเรือน ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่ง ที่ราคาจะขยับขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นไป ดังนั้นควรหันมาใช้พลังงานชีวภาพแทน
2. อัตราดอกเบี้ย ในปีหน้ารัฐบาลอาจจะขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเล็กน้อย
3. อัตราแลกเปลี่ยน ในปีหน้าเงินบาทจะอ่อนตัวลง เนื่องจากสหรัฐฯ จะพิมพ์เงินดอลล่าร์น้อยลง คาดค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32.50 บาท ดังนั้น ผู้นำเข้าควรระวังในช่วงครึ่งปีแรกบาทจะอ่อน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองอาจส่งผลกระทบทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่งผลเงินทุนไหลออก
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพเพิ่ม และต้นทุนทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกินไทย คงต้องขึ้นอยู่กับการเศรษฐกิจโลกด้วย หากสหรัฐฯ ต้องเข้าสู่สภาวะ Shut down อีกรอบ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่โตตาดที่คาดไว้ คือ 4.5%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *