xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยปี 57 ศก.ซึม ยอดขายหด หั่นสายป่านเอสเอ็มอีสั้นจู๋!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยแนวโน้มเอสเอ็มอีปีหน้าเดินซึม คาด GDP SMEs อย่างมากโตแค่ 4-4.5% ระบุปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดสายป่านสั้นลดจาก 30-45 วัน เหลือ 15-30 วัน ผลจาก ศก.ชะลอตัว ขายสินค้าบริการได้ยากขึ้น และกำไรลดลง แนะวางแผนตลาดขายสินค้าเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เลิกทำธุรกิจแบบเหวี่ยงแห และหาแหล่งทุนสำรอง

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว “SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2557 ยังคงเป็นไปในทิศทางคล้อยตามเศรษฐกิจรวมของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมีอัตรา GDP SMEs เติบโตอย่างมากที่สุดประมาณ 4-4.5% โดยมีความเสี่ยงสำคัญในเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินจะสั้นลง จากเดิมเอสเอ็มอีจะมีเงินสำรองไว้เป็นทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องประมาณ 30-45 วัน แต่ปี 2557 จะลดเหลือ 15-30 วัน สาเหตุเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้ยากขึ้น และกำไรลดลง เมื่อประกอบกับเอสเอ็มอีมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย จากทั้งนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงาน และนโยบายด้านพลังงานที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เหล่านี้ประกอบกันทำให้สายป่านของเอสเอ็มอีจะสั้นลด

อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจ SMEs ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2557 นั้น กลุ่มแรกคือ กลุ่มอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องเป็นอาหารที่เป็นเมนูจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างชัดเจน เช่น อาหารกลุ่มสุขภาพ หรืออาหารเมนูประจำชาติต่างๆ เป็นต้น กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผลไม้ บริการสุขภาพ และสมุนไพรเสริมสุขภาพ ตามเทรนด์ของคนยุคปัจจุบันที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพอย่างยิ่ง กลุ่ม 3 แฟชั่น ซึ่งตอบความต้องการของลูกค้า 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นคนทำงานที่ชอปปิ้งผ่านออนไลน์ ต้องการเสื้อผ้าราคาถูก เปลี่ยนตามแฟชั่น และกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นเพื่อลูกค้าไฮเอนด์ ซึ่งต้องการสินค้าเฉพาะตัวคุณภาพสูงไม่เหมือนใคร และกลุ่มที่ 4 คือธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวข้อง เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวข้องยังคงมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม สำหรับเอสเอ็มอีควรปรับบริการให้เหมาะต่อความต้องการลูกค้า เช่น จัดแพกเกจท่องเที่ยวแบบระยะสั้น เหมาะต่อไลฟ์สไตล์ลูกค้านักท่องเที่ยวยุคใหม่ เป็นต้น

ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงนั้นจะเป็นกลุ่มที่มีอยู่จำนวนมาก แต่ไม่สามารถปรับตัวให้มีสินค้าหรือบริการที่มีความโดดเด่น หรือคุณภาพที่ดีขึ้น เช่น ธุรกิจร้านอาหาร แฟชั่น ค้าปลีก ฯลฯ

“เอสเอ็มอีควรจะจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อย่าทำธุรกิจแบบเหวี่ยงแห อย่าเน้นขายเยอะ ราคาถูก แต่อยากให้เน้นขายเป็นรายชิ้นได้มูลค่าต่อหน่วยสูง รวมถึงอยากให้เอสเอ็มอีเตรียมแผนเรื่องสภาพคล่อง เช่น มีการติดต่อธนาคารไว้ล่วงหน้าเพื่อมีทุนสำรองไว้ในกรณีมีออเดอร์เข้ามาจะได้มีทุนในการผลิต ไม่เสียโอกาสทางการค้าไป” ดร.เกียรติอนันต์กล่าว

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในมุมของผู้ประกอบการภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐต้องการให้มีนโยบายส่งเสริมสถาบันการเงินของรัฐบาลในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอี เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตของเอสเอ็มอีสู่ระดับสากล รวมถึงการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก และเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น