xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโฉม 3 ธุรกิจลุ่มน้ำโขง รับเละ! อานิสงส์ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการค้าเสรีอาเซียน หรือ เออีซี ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มตื่นตัว โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย การค้าเริ่มคึกคัก มีการลงทุนจากนักธุรกิจที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ รวมถึงราคาที่ดินก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ล่าสุด “ทีมงาน SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ได้ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดมุกดาหาร เจาะลึก 3 ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในจังหวัด กับแนวคิดที่อยากลงทุนในลาว แขวงสะหวันเขต และไม่ต้องการ! เป็นเพราะสาเหตุใด หรือเขามองเห็นข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบที่อยู่ตรงหน้า ลองมาวิเคราะห์กัน

เริ่มจาก 'ธุรกิจอุปโภคบริโภค' อย่าง ผู้ประกอบการผลิตน้ำแข็งรายใหญ่ของมุกดาหาร ที่ไม่เพียงแต่ส่งขายในตัวจังหวัดเท่านั้น แต่ยังกระจายไปจังหวัดใกล้เคียงด้วย “โรงน้ำแข็งเกียรติมุกดา” ของนายจันทร ตยางคนนท์ เจ้าของธุรกิจ เขาให้ความเห็นว่า ตนเองไม่คิดจะไปเปิดโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ประเทศลาว เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จากความนิยมบริโภคยังมีน้อย และเงื่อนไขที่จุกจิกในการไปตั้งโรงงานผลิตที่ประเทศลาว รวมถึงที่ผ่านมาก็มีชาวลาวรับน้ำแข็งไปจำหน่ายต่อบ้าง แต่ไม่มากนัก ขณะที่ความได้เปรียบในการเป็นผู้ประกอบการรรายใหญ่ใน จ.มุกดาหาร และดำเนินธุรกิจมานานตั้งแต่ปี 2538 ทำให้ผู้บริโภคไว้วางใจในคุณภาพ มียอดสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 160ตัน/วัน (เฉพาะจ.มุกดาหาร)

“เรื่องการเปิดเออีซี ถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การค้าในจังหวัดมุกดาหารคึกคักขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็พอเห็นบ้างแล้วจากการลงทุนของนักลธุรกิจต่างถิ่น เข้ามาเปิดร้านอาหาร สถานบันเทิง กันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเราได้รับผลพลอยได้จากการลงทุนนี้ ซึ่งปัจจุบันเราผลิตและจำหน่ายน้ำแข็งหลอด น้ำดื่ม และน้ำอัดลม โดยมีน้ำแข็งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบมี 2 สาขา คือที่ จ.มุกดาหาร และ จ.นครพนม มีกำลังการผลิตตกวันละ 100 ตัน/วัน”

ต่อมาเป็น 'ธุรกิจบริการด้านประดับยนต์' เปลี่ยนยาง ตรวจสภาพรถ และเคาะพ่นสี รายนี้มีโครงการที่จะขยายธุรกิจบริการด้านรถยนต์แบบครบวงจร ที่แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งตรงกับช่วงการเปิดเออีซีพอดิบพอดี โดย “นายวุฒิภัทร สัจมุกดา” ผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกิจ คาร์เซอร์วิส แอนด์ ยางยนต์ เห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจนี้ จากปัจจุบันมีรถยนต์ข้ามฝั่งจากลาวมาใช้บริการประมาณ 30% โดยในแต่ละวันมีลูกค้าทั้งชาวไทย ลาว รวมถึงชาวเวียดนาม เข้ามาใช้บริการรวมกันไม่ต่ำกว่า 150 คัน/วัน ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนยาง ล้อแมกซ์

“เราเห็นช่องทางที่จะขยายธุรกิจในลาว ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูล จากเดิมเคยเข้าร่วมโครงการต่างๆ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาบ้างแล้ว เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) โครงการเพิ่มศักยภาพการวางแผนภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ลุ่มน้ำโขง ทำให้ได้รับความรู้และมั่นใจในการขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น”

นับว่ามียังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก เพราะเป็นธุรกิจบริการที่ได้รับความนิยมใน สปป.ลาว เป็นอย่างมาก ขณะที่ในลาวมีผู้ให้บริการในธุรกิจประเภทนี้น้อยมาก อีกทั้งสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์ไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร รวมทั้งฝีมือแรงงานไทยที่มีทักษะและมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งทางผู้บริหาร บอกว่า จะต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันและรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยคาดว่าจะลงทุนสร้างคลังสินค้าให้สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงให้พนักงานฝึกพูดภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางในการสื่อสาร และภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาเวียดนามเพื่อที่จะสื่อสารกับลูกค้าในภูมิภาคอาเซียนตอนบนได้อย่างมั่นใจ

ถัดมาเป็นธุรกิจที่เรียกว่าเติบโตเคียงคู่ประเทศกำลังพัฒนา และเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่าง 'ธุรกิจก่อสร้าง' ที่มีตัวเลขเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพื้นที่ใน จ.มุกดาหาร มีการส่งสินค้าไปลาวอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายหลังคาเหล็กเมทัลชีท กลับไม่คิดตั้งโรงงานผลิตในลาว ซึ่ง “นายลีนวัฒน์ สิงหธนะพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วน จำกัด บิ๊กดี เมทัลชีท บอกว่า จากอุปสรรคจากวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า ขณะเดียวกันเครื่องจักรก็ต้องขนย้ายเข้าไปเป็นจำนวนมาก แต่หากจะทำหลังคาแบบสำเร็จรูปและขนส่งเข้าไปในลาวนั้น ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องความยาวของหลังคาในการขนส่งเข้าลาว ทำให้ต้องตัดครึ่ง เสียรูปทรง เขาจึงเลี่ยงปัญหาด้วยการขายในไทยเพียงอย่างเดียว แต่ใครจะมาขอความรู้ด้านการผลิตก็ยินดี

“ที่ผ่านมาเราทำหลังคาเหล็กเมทัลชีทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000 เมตร/วัน เน้นขายในจ.มุกดาหาาร นครพนม และจังหวัดโดยรอบ ประมาณ 95% ส่วนที่เหลือจะเป็นลูกค้าชาวลาวนำเข้าไปขายเองในแขวงสะหวันนะเขต รวมถึงขายสินค้าให้แก่ผู้รับเหมา ทั้งชาวไทยและชาวลาว เพื่อสอดรับกับการขยายตัวในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น”

3 ธุรกิจนี้นับว่ากำลังมาแรงในจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จากอานิสงค์ของเอีซีที่จะมีขึ้นปี 2558 นี้ แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ หากผู้ประกอบการมองเห็นช่องว่างการค้ากับประเทศที่กำลังพัฒนาในทุกๆ ด้าน อย่าง สปป.ลาว ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์นี้

ข้อมูลการค้าชายแดนไทย-ลาว จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

นายธนิตศักดิ์ บุญกมลศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้าชายแดนไทย - ลาว ว่า ในปี 2555 ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยสู่ สปป.ลาว มีมูลค่าการส่งออกสินค้าจำนวน 109,059.22 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นจากปี 2554 กว่า 34.43% โดยเฉพาะในด้านการค้าชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2555 กว่า 28,677.9 ล้านบาท หรือประมาณ 26.29% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น