ในอดีตการทำเครื่องครัวเรือนจากวัสดุประเภท “เหล็ก” ต้องใช้วิธีการเผาเหล็กให้ร้อน แล้วใช้ค้อนทุบตีจนเข้ารูปทรงที่ต้องการ ถือเป็นงานที่ทั้งยาก เหนื่อย และต้องใช้ช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จนเมื่อเวลาผ่านไป เครื่องจักรถูกนำมาใช้แทนที่ในกระบวนการผลิต ทำให้งานประเภทนี้ ถูกยกระดับเป็นสินค้าราคาถูก สำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบความสวยงาม และงานทำมือ โดยเฉพาะรอยค้อนทุบตีลงบนผิวสินค้า คือ เอกลักษณ์และเสน่ห์ที่ลูกค้าชื่นชอบ
ปัจจุบัน งานประเภทนี้ ในเมืองไทยเหลือผู้ผลิตอยู่น้อยมาก ไม่เกิน 20 รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะเดียวกันที่ จ.กาญจนบุรี มีผู้ผลิตอยู่หนึ่งเดียว โดยเน้นงาน “สแตนเลส” ทำเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารชนิดต่างๆ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ จุดเด่นอยู่ที่การสร้างสรรค์ดีไซน์หลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ควบคู่กับคุณค่าแห่งงานฝีมือ
สร้างชื่อหนึ่งเดียวในเมืองกาญจน์
สุรศักดิ์ วณิชธนภัทร ประธานกลุ่มหัตถกรรมสแตนเลส ต.หนองปลาไหล อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี เล่าให้ทีมงานหน้า “SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ฟังว่า ช่วงวัยรุ่นได้ไปทำงานเป็นช่างตีเหล็กอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ค่อยๆ สะสมความรู้การผลิตทุกขั้นตอนจนครบถ้วน กระทั่งเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด พร้อมพกพาฝีมืองานตีเหล็กติดตัวมาด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังกลับมาอยู่บ้านเกิด เปลี่ยนไปยึดอาชีพเป็นเกษตรกรทำไร่สับปะรด แต่ด้วยปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ จึงหยิบวิชาตีเหล็กที่ติดตัวมา นำสแตนเลสทำเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องครัวบนโต๊ะอาหาร เพื่อขายเป็นรายได้เสริม ปรากฎว่าได้การตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในเวลาใกล้เคียงกัน ได้รับคัดสรรให้เป็นสินค้าโอทอปของ จ.กาญจนบุรีด้วย ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้จากอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลักมาถึงปัจจุบัน นับถึงปัจจุบัน ยังถือเป็นผู้ผลิตงานเครื่องใช้สแตนเลสแฮนด์เมดรายแรกและรายเดียวใน จ.กาญจนบุรี
“งานประเภทตีเหล็ก สามารถทำด้วยวัสดุได้หลากหลาย แต่ที่ผมเลือกเป็นงานสแตนเลส เพราะมันเหมาะจะมาทำเป็นอุปกรณ์ในห้องครัว และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เพราะสแตนเลสเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย ไม่มีสารตะกั่วตกค้าง และตลาดมีความต้องการมาก โดยเริ่มแรก ผมอาศัยวางขายตามงานแสดงสินค้าในท้องถิ่น ก็เริ่มได้รับออเดอร์จากลูกค้าต่างชาติ สั่งสินค้าไปขายต่อยังประเทศของเขา ทำให้จากที่ทำเป็นอาชีพเสริม ค่อยๆ มีออเดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นอาชีพหลัก” สุรศักดิ์ เล่า
ยิ่งทุบยิ่งสวย ขายเสน่ห์แฮนด์เมด
เจ้าของธุรกิจ เล่าต่อว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ รอยค้อนทุบตีบนพื้นผิว ซึ่งทำขึ้นด้วยมือคนล้วนๆ ช่างผู้ทำต้องมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง รอยตีแต่ละรอย แตกต่างกันไปทั้งขนาด และน้ำหนักที่ใช้ตี ต้องได้ระดับเหมาะสม ให้รอยออกมาสวยงาม หลังจากนั้น เมื่อนำไปขัดเงา ยิ่งเกิดความสวยงามมากยิ่งขึ้น
ด้านการออกแบบนั้น สุรศักดิ์ ระบุว่า จะเน้นความสำคัญต่อการใช้งานเป็นอันดับแรก เช่น ชุดช้อนและส้อม หากทำสำหรับลูกค้าต่างชาติ จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักมาก จับได้กระชับเหมาะกับสรีระสูงใหญ่ของชาวตะวันตก หรือกรณีทำเป็นชุดใส่เครื่องปรุง ฝาที่ใช้ปิดเปิด กับช้อนตักเครื่องปรุง ต้องเข้ากันได้ดี เพื่อผู้ใช้สามารถตักเครื่องปรุงได้สะดวก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ดูเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ และเป็นสิ่งสำคัญต้องใช้ประสบการณ์สะสมเรียนรู้
เขาบอกด้วยว่า แรงงานผลิตเวลานี้ มีทีมช่าง 8 คน ทำได้รวมทั้งชิ้นเล็กและใหญ่ ประมาณ 10,000 ชิ้นเดือน เท่าที่ทำมา มีสินค้าหลักพันรายการ ส่วนใหญ่เน้นเป็นอุปกรณ์ใช้บนโต๊ะอาหาร สินค้าขายดีที่สุด คือ ชุดช้อนส้อม ราคาเริ่มต้นที่หลักสิบถึงหลักหมื่นบาทต่อชิ้น กลุ่มลูกค้ากว่า 70-80% จะทำส่งออเดอร์ลูกค้าต่างชาติ เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนตลาดในประเทศประมาณ 20-30% โดยผ่านช่องทางขายตามงานแสดงสินค้าโอทอป ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ โรงแรม และรีสอร์ตต่างๆ
ลดจุดอ่อน มุ่งสร้างแบรนด์ STP
สุรศักดิ์ ยอมรับว่า เนื่องจากตลาดใหญ่เวลานี้ คือรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างชาติ ทำให้บางครั้งประสบปัญหาถูกกดราคา ประกอบกับผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ทำให้กำไรที่ได้ต่อหน่วยลดลงเรื่อยๆ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมากได้ เพราะขาดแคลนแรงงานผลิต คนรุ่นใหม่ไม่นิยมมาทำงานนี้ เนื่องจากเหนื่อยหนักและยาก เหตุนี่เอง จึงคิดถึงการจะสร้างตลาดใหม่ ทำเป็นสินค้ากึ่งแฮนด์เมด เพื่อตลาดวงกว้าง หวังเพิ่มสัดส่วนขายในประเทศมากยิ่งขึ้น ภายใต้แบรนด์ของตัวเองว่า STP ย่อจาก Surasak Thai Product (สุรศักด์ ไทย โปรดักซ์)
“เมื่อเราคิดถึงการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ทำให้ต้องวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย ผมจึงคิดว่าเราควรจะมาเพิ่มทำตลาดในประเทศมากขึ้น แทนที่เราจะพึ่งแต่ทำตามออเดอร์ลูกค้าต่างชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่า ความต้องการของลูกค้าในประเทศยังมีอยู่ แต่ติดตรงที่สินค้าประเภทนี้ เป็นงานแฮนด์เมด ราคาค่อนข้างสูง อีกทั้ง หาแรงงานมาเสริมก็หายาก เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่นิยมมาทำงานนี้แล้ว” สุรศักดิ์ กล่าว และแจงต่อว่า
“เพื่อจะแก้ปัญหาข้างต้น ผมจึงเลือกวางตำแหน่งของ STP ให้เป็นสินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เหมาะกับลูกค้าตลาดกลาง ราคาไม่สูงเกินไป คนทั่วไปสามารถซื้อหาไปใช้ในบ้านตัวเองได้ ซึ่งวิธีที่จะทำให้ต้นทุนผลิตลดลง และผลิตได้มากขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น ผมได้นำเครื่องจักรมาผสมผสานในขั้นตอนผลิตบ้าง เช่น การตัดรูปทรง ขัดเงา เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน เรายังรักษาเอกลักษณ์ให้มีรอยตีค้อนเหมือนเดิม ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้ลูกค้าคนไทยถูกใจ ที่ได้ใช้สินค้าคุณภาพ ดูหรูหรา แต่ราคาไม่แพง” เจ้าของธุรกิจ กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางปรับตัวดังกล่าว สุรศักดิ์ เผยว่า ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) มาเป็นทุนหมุนเวียน และซื้อเครื่องจักร รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากเอสเอ็มอีแบงก์ พัฒนาแบรนด์ และช่วยเปิดตลาดพาไปออกงานแสดงสินค้า โดยเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Money Expo ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมานี่เอง
สนใจงานสแตนเลสบนโต๊ะอาหาร ที่ทั้งสวย และรวยด้วยเสน่ห์แฮนด์เมด ติดต่อไปได้ที่ 089-919-9033
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *