xs
xsm
sm
md
lg

จับเข่าเจ้าสำนัก ‘The ReMaker’ สร้างตำนานปลุกชีพขยะโกอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุทธนา อโนทัยสินทวี
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เมื่อตอน “ยุทธนา อโนทัยสินทวี” เพิ่งเริ่มนำวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เสื้อเก่า แผ่นป้ายโฆษณา ยางในรถฯ มาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋า และเครื่องใช้ต่างๆ นั้น บ่อยครั้งคนรอบข้างมองเขาเป็น “ตัวประหลาด” ชอบทำอะไรเพ้อเจ้อ แต่ปัจจุบัน ผลงานได้พิสูจน์ตัวเอง เมื่อผลิตภัณฑ์ ‘The ReMaker’ (เดอะ รีเมคเกอร์) ก้าวเป็นหัวแถวของธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ 

และเมื่อไม่นานมานี้ ทีมงาน “SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจ ‘The ReMaker’ ผู้สร้างตำนานปลุกชีพขยะให้มีชีวิต ซึ่งได้บอกเล่าเส้นทางธุรกิจที่ผ่านมา รวมถึง เผยประสบการณ์ต่างๆ ในทุกเหลี่ยมมุม เพื่อจะเป็นทั้งตัวอย่าง บทเรียน และที่สำคัญ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ
กระเป๋าทำจากยางในรถฯ
@@@มนุษย์เงินเดือนก้าวสู่เถ้าแก่ใหม่@@@

ชายวัย 40 ต้นๆ มาพร้อมบุคลิกสุภาพเป็นมิตร เล่าชีวิตช่วงแรกในการทำงาน คล้ายกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ด้านรัฐศาสตร์ ก็ไปทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน อยู่ในฝ่ายขาย

จนเวลาล่วงผ่านมานับ 10 ปี มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีอาชีพออกแบบและผลิตเสื้อผ้ากับสินค้าแนวแฟชั่นจากเศษวัสดุเหลือใช้ ทำให้ “ยุทธนา” ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้การออกแบบ และผลิต รวมถึง เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนนี้ ยังมอบหมายให้เขาเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า หรือโออีเอ็ม เพื่อส่งต่อไปให้บริษัทของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ตัดสินใจ ควักทุนส่วนตัวประมาณ 3-4 แสนบาท ซื้อจักรเย็น วัตถุดิบต่างๆ เพื่อสร้างธุรกิจรับจ้างทำสินค้ามือสองแนวแฟชั่นเป็นของตัวเอง

“ช่วงแรกธุรกิจก็ไปได้ดี ลูกค้าป้อนงานมาให้ตลอด รายรับเกือบล้านต่อเดือน จากพนักงานแค่1-2 คน ก็ค่อยเพิ่มๆ เป็นกว่า 30 คน แต่พอทำไปได้สักระยะหนึ่ง มันเกิดจุดพลิกผัน เมื่อลูกค้าเปลี่ยนนโยบาย ย้ายฐานผลิตไปให้โรงงานจีนทำแทน เพราะค่าจ้างถูกกว่าเรามาก ตอนนั้น ก็เคว้งเลย คิดไม่ออกว่าจะทำต่อไปอย่างไรดี” ยุทธนา ย้อนให้ฟังถึงจุดหันเหครั้งสำคัญ

@@@เลิกรับจ้างผลิต ฮึดสร้างแบรนด์ของตัวเอง@@@

หลังสูญเสียลูกค้าไปให้ผู้ผลิตจากจีนแทน ทำให้ยุทธนาบอกตัวเองว่า หลังจากนี้ เขาจะไม่อาศัยแค่รับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ไม่เช่นนั้น อาจเจอปัญหานี้ซ้ำอีก ดังนั้น ลุกขึ้นมาผลิตและขายสินค้าดีไซน์ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง
ทำจากป้ายโฆษณา
ถามถึงเหตุที่เลือกจะนำเสื้อผ้ามือสองมาทำเป็นกระเป๋า ยุทธนาแจงว่า หากทำเป็นเสื้อผ้าจะต้องทำหลายขนาด ใช้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้น จึงเลือกจะทำเป็นกระเป๋าแทน ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นสากล ขนาดมาตรฐาน และทำตลาดได้ง่าย ขอเพียงออกแบบให้โดนใจลูกค้าเท่านั้น ทุกอย่างก็น่าจะคลิกเอง!
กระเป๋าจากกางเกงมือสอง
“ช่วงแรกผมก็เอาเสื้อผ้ามือสองสำเร็จรูปที่มันค้างสต็อกอยู่มาทำเป็นกระเป๋า เริ่มผลิตสินค้าตัวอย่างแล้วส่งให้ลูกค้าต่างชาติดู ซึ่งผมตั้งใจอยู่แล้วว่า เราต้องการลูกค้าต่างประเทศ คือ ญี่ปุ่น และตะวันตก อย่าง ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดในประเทศ ผมแทบไม่กล้ามองเลย เพราะทัศนคติของคนไทยยังไม่ค่อยดีต่อผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งเวลานั้น ยังไม่มีกระแสลดโลกร้อน การรีไซเคิลไม่มีใครพูดถึง ผมจึงค่อนข้างเป็นตัวประหลาด ในสายตาคนรอบข้าง” ยุทธนา เผยความรู้สึก

@@@แจ้งเกิดกระเป๋าแฟชั่นจากเสื้อมือสอง@@@

หลังส่งสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าพิจารณา จนผ่านไปหลายเดือน ลูกค้าต่างชาติเริ่มติดต่อกลับมาซื้อซ้ำ รวมถึง มีลูกค้ารายใหม่ๆ หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นจุดตั้งตัวได้ของธุรกิจ‘The ReMaker’ อย่างแท้จริง
สินค้า  Catch It กลุ่ม D.I.Y. (Do It Yourself)
“ขั้นตอนการผลิต ทุก 2 สัปดาห์ผมจะขับรถไปตลาดโรงเกลือ ซื้อเสื้อมือสอง และกางเกงยีนส์มือสอง ตัวละ 10-100 บาท มาทำความสะอาด คัดเกรดสีและลวดลาย แล้วจึงไปตัดเย็บ ซึ่งแต่ละใบก็จะมีรายละเอียดต่างกันไป ทำให้ทุกใบ ล้วนเป็นสินค้าชิ้นเดียวในโลก ก็ถือเป็นอีกจุดขายทำให้ลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี รวมถึง ชื่อของเราก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีกระแสรักษ์โลกเข้ามาหนุน ทำให้สินค้ารีไซเคิลของเรา ได้รับการยอมรับของลูกค้าในประเทศมากขึ้น” เจ้าสำนัก‘The ReMaker’ กล่าว

@@@ขึ้นแท่นผู้นำผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้@@@

จากเริ่มแรก วัสดุหลัก คือ เสื้อผ้ามือสอง แต่หลังจากนั้น ‘The ReMaker’ วางตัวเองเป็นผู้ผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้นานาชนิด โดยเฉพาะที่เป็นพระเอกของแบรนด์ในปัจจุบัน คือ “ยางในรถจักรยานยนต์” ที่เดิมแทบไม่เคยมีใครคิดจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เลย
สินค้าใหม่ทำจากเศษกระสอบทรายเหลือทิ้ง
“ไอเดียของผม จะเริ่มจากการมองหาสิ่งของรอบตัวในชีวิตประจำวัน และนึกถึงวัสดุจำนวนมาก ที่เหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม แต่คนส่วนใหญ่มองข้าม ทำให้คิดถึงยางในรถจักรยานยนต์ ซึ่งบ้านเราใช้จักรยานยนต์กันมาก แต่ไม่มีการนำยางในเก่าไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร อย่างมากแค่ใช้รัดของเล็กๆ น้อยๆ ผมเลยเกิดไอเดียดัดแปลงให้เป็นกระเป๋า” ยุทธนา อธิบาย
นี่ทำจากยางรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนำยางในเก่ามาแปรรูปนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลังจากได้วัสดุยางในเก่ามาแล้ว ต้องนำมาทำความสะอาดคราบสกปรกด้านนอก-ด้านใน ซึ่งมีทั้งน้ำมันเครื่อง คราบสนิม ผงแป้ง จากนั้นนำมาผ่าครึ่งออกเป็น 2 ชิ้นแล้วจึงค่อยถึงขั้นตอนการเย็บ ซึ่งจักรเย็บผ้ารุ่นปกติ ไม่สามารถเย็บยางในได้ ดังนั้น ต้องนำมา “โมดิฟาย” เสียใหม่ เพื่อจะได้จักรที่เย็บยางในได้โดยเฉพาะ
กระเป๋าจากป้ายโฆษณา
“กระเป๋ารุ่นยางใน ทำออกมาแล้วส่งไปขายที่ฝรั่งเศส ปรากฏขายดีมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งได้รับออร์เดอร์จำนวนมากเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ตอนนั้นทั้งดีใจและตกใจ เพราะไม่คาดว่าจะต้องหายางในจำนวนมากขนาดนั้น เลยต้องตระเวนหาทั่วกรุงเทพฯ กว้านมาจนยางในขาดตลาดเลย” ยุทธนา เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

เขาเล่าเกร็ดให้ฟังด้วยว่า ในช่วงแรกๆ ยางในแทบจะไม่ต้องเสียเงินซื้อเลย อาศัยไปขอตามร้านปะยางทั่วไป แต่ปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้สูงมาก จะมีแหล่งซื้อประจำ ราคาเฉลี่ย ซื้อเส้นละประมาณ 3 บาท ต่อเดือนน้ำหนักยางที่ใช้ผลิตรวมกันนับเป็นตันทีเดียว
ออกบูทงานแสดงสินค้า
@@@ไม่หยุดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ@@@

ยุทธนา ยอมรับตามตรงว่า แทบไม่ได้คิดหรือวางตำแหน่งให้สินค้าของ ‘The ReMaker’ จะต้องเป็นสินค้าเพื่อรักษ์โลก หรือกรีนโปรดักส์แต่อย่างใด เพียงแค่ตั้งใจจะทำงานดีไซน์โดยใช้วัสดุเหลือใช้ นำเสนอออกมาให้ดูโดดเด่นเท่านั้น
วัสดุทำจากเศษกางเกงยีนส์อัดเป็นแผ่น มาทำเป็นเก้าอี้
นอกจากยางในแล้ว ยังนำวัสดุเหลือใช้อื่นๆ มาปลุกชีพเสียใหม่ รวมกันนับพันดีไซน์ เช่น ใช้แผ่นป้ายโฆษณาพลาสติกผสมใยผ้ามาทำเป็นกระเป๋า รวมถึง พัฒนาวัสดุใหม่ ใช้ทดแทนหินแกรนิตหรือหินอ่อน โดยใช้เศษผ้ายีนส์มาอัด ทำเป็นแผ่นกระเบื้อง และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น

“ตอนนี้เศษวัสดุที่เหลืออยู่ จะเอากองไว้ที่หน้าออฟฟิศ เพื่อกดดันตัวเองให้คิดของใหม่ออกมาเร็วๆ ว่าจะทำได้อย่างไร เพื่อกำจัดทัศนียภาพที่ไม่ดี เหมือนแผ่นกระเบื้อง ซึ่งเป็นโปรดักซ์ใหม่ เริ่มจากการเอาเสื้อผ้าเก่าที่ทำจากผ้ายีนส์มาทำกระเป๋า แล้วยังเหลือเศษผ้ากองโต ทำให้ผมต้องคิด มาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ของโลกที่ใช้ทดแทนไม้ ซึ่งใช้เวลาสองปีในการคิดและทำออกมา” ยุทธนา ระบุ
แผ่นกระเบื้องทำจากเศษกางเกงยีนส์อัดแผ่นเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีสินค้าใหม่ คือ Catch It นำยางซิลิโคนของใหม่ที่ยังไม่ได้ผ่านการใช้งานมาใช้เป็นวัสดุในการทำ และนำสีที่ผลิตจากถั่วเหลือง (soy ink) ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผสมให้เกิดสีต่างๆ กลายเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง เนื่องจากถ้าใช้ยางในรถยนต์จะมีสีดำสีเดียวเท่านั้น เพราะไม่สามารถทำให้เปลี่ยนสีได้

ในการนำเสนอ Catch It กำลังทำตัวอย่างวิธีต่อให้เป็นของใช้ต่างๆ ลงในยูทูบและจะใส่เข้าไปในเฟซบุ๊กเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าทำเป็นอะไรได้บ้าง เช่น ที่จับแก้วน้ำ กล่องใส่ทิชชู โคมไฟ เข็มขัด ฯลฯ ซึ่งคิดได้แล้วนับสิบแบบ และคิดว่าต่อไปจะจัดกิจกรรมแข่งขันการออกแบบเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเข้ากับแนวคิด “การทำใหม่” ซึ่งเชื่อมโยงหรือสะท้อนกับชื่อแบรนด์คือ “The Remaker” แต่ครั้งนี้เป็นการให้ลูกค้าเป็นคนคิดใหม่ทำใหม่ด้วยตัวเอง

@@@ชี้ตลาดสินค้ารีไซเคิล โอกาสเปิดกว้าง@@@@

หลังสร้างชื่อจนโด่งดังในต่างประเทศ ปัจจุบัน ‘The ReMaker’ กลับมาเป็นรู้จักของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร สัดส่วนตลาดในประเทศประมาณ 20% ผ่านช่องทางขาย เช่น Loft , Propaganda , Eco Shop , The Shop @ TCDC เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ไปยังประเทศแถบยุโรป
ยางในทำเป็นอุปกรณ์ใส่แท็บเล็ต
ยุทธนา แสดงทัศนะด้วยว่า ตลาดสินค้ารีไซเคิล น่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแส “รักษ์โลก” จากทุกส่วน รวมทั้ง คนรุ่นใหม่นิยมมาทำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะยิ่งมีคนทำธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุเหลือใช้มากขึ้นเท่าใด จะช่วยกระตุ้นวงการให้คึกคักและตื่นตัวมากขึ้นเท่านั้น

“ที่ผ่านมาผมโดดเดี่ยวมากเลย สมัยก่อนไม่มีใครพูดถึง มีแต่คนทัศนคติไม่ดี แต่ถ้าคนหันมาให้ความสำคัญกันมากๆ แสดงว่าผู้คนเริ่มให้การยอมรับ ตลาดสินค้ารีไซเคิลในเมืองไทยก็จะตื่นตัว เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาทำสินค้าแนวนี้ ต้องสร้างจุดแข็งคือไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุด และการยึดมั่นในคอนเซ็ปต์การนำของใช้แล้วมาออกแบบให้มีคุณค่าและน่าใช้ด้วย” เจ้าของแบรนด์ The Remaker ทิ้งท้าย

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น