ไอศกรีมชื่อยี่ห้อน่ารักว่า ‘KIINTIM’ (กินติม) เป็นไอศกรีมขนมไทยโบราณที่นำมาสูตรดั้งเดิมมาพัฒนาให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งเรื่องรสชาติ และเครื่องที่ใส่มาเต็มๆ เอาใจลูกค้าวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ลิ้มรสไอศกรีมโบราณที่อร่อยอย่างแท้จริง ช่วยคลายอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนนี้ได้เป็นอย่างดี
เจ้าของธุรกิจ “ภาสประภา กันยาวิริยะ” เล่าให้ “ทีมงาน SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ฟังถึงจุดเด่นของ “กินติม” ว่า อยู่ที่การพัฒนาสูตรไอศกรีมโบราณที่เป็นขนมไทยให้มีความเป็นขนมไทยจริงๆ เมื่อกัดไอศกรีมไปแล้วรู้สึกว่ากำลังกินขนมไทยแท้ๆ ที่อร่อย หอมหวาน และเนื้อของไส้ต่างๆ ที่ใส่ลงไปมีจำนวนมาก และไส้ต่างๆ ยังมีความนุ่ม กินง่ายแม้จะผ่านการแช่แข็งมาแล้ว
“แรงบันดาลใจตอนแรกมาจากตัวผมเองที่เวลาเรากินไอศกรีมโบราณ อย่างรสข้าวเหนียวถั่วดำ เวลากัดไปแล้วมันจะรู้สึกว่ายังไม่ได้รสชาติแบบขนมไทยแท้ๆ ส่วนไส้ เช่น ข้าวเหนียว และถั่วดำก็จะแข็งมาก หรือบางครั้งเครื่องที่ใส่มาในไอศกรีมก็น้อยนิดเดียว กินแล้วไม่เต็มอิ่ม” ภาสประภาเล่า และเสริมต่อว่า
“นอกจากนั้น ครอบครัวของผมทำธุรกิจเปิดร้านขายของชำอยู่ที่ถนนเยาวราช ซึ่งเป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยวเดินผ่านไปมาจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ขณะที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากเรามีไอศกรีมขายลูกค้าที่เดินผ่านไปมาโดยเป็นไอศกรีมโบราณที่ทำในรูปแบบทันสมัย มีมาตรฐานการผลิตระดับสากล น่าจะเป็นโอกาสสร้างรายได้เสริมเป็นอย่างดี ประกอบกับได้รู้จักกับโรงงานทำไอศกรีมแห่งหนึ่ง ทำให้ผมติดต่อให้ลองทำไอศกรีมขนมไทยสูตรเข้มข้นเพื่อจะมาขายที่ร้าน” หนุ่มไฟแรงกล่าว
แนวคิดพัฒนาสูตรไอศกรีมขนมไทยโบราณให้เข้มข้นอาจฟังเหมือนง่ายและธรรมดาๆ แต่ในความเป็นจริงหลังได้ทดลองทำจริงแล้วจึงได้รู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ตัวอย่าง ขนมไทยประเภทใส่กะทิ เช่น ฟักทองแกงบวด กล้วยบวชชี ขนมหม้อแกง ฯลฯ หากต้องการให้หวานมันหอมอร่อยต้องใส่กะทิจำนวนมาก แต่พอจะทำเป็นไอศกรีมแล้วหากใส่กะทิมาก เนื้อไอศกรีมจะแตก ดังนั้นต้องพยายามทดลองปรับสูตรครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้ไอศกรีมที่อร่อยเหมือนกำลังกินขนมไทยอยู่จริงๆ
ภาสประภาเล่าต่อว่า อีกจุดเด่นของไอศกรีม ‘KIINTIM’ คือความหลากหลาย ที่มีให้เลือกถึง 25 รสชาติ ทั้งประเภทขนมไทย และผลไม้ไทยต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวถั่วดำ ขนมหม้อแกง ลอดช่อง ข้าวต้มมัด กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวเปียกลำไย ข้าวเหนียวมะม่วง ชาไทย ทุเรียน มะขาม มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ
ในขณะที่รูปทรงไอศกรีมยึดแบบโบราณ เป็นแบบแท่งสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ เพื่อจะขายเอกลักษณ์ความเป็นไทยดั้งเดิมตอบความต้องการของลูกค้าเป้าหมายชาวต่างชาติ
“ผมวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไว้ที่วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นรูปทรงของไอศกรีมเราจึงทำมาในรูปแบบโบราณแท้ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงความเป็นอดีต ส่วนชาวต่างชาติก็จะชอบว่าได้กินไอศกรีมไทยโบราณแท้ๆ” ภาสประภากล่าว
สำหรับราคาขายปลีกอยู่ที่แท่งละ 35 บาท เจ้าของธุรกิจยอมรับว่า ราคาค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ล้วนแต่เป็นเกรดดีที่สุด ทุกแท่งใส่เครื่องมาแบบเต็มๆ อย่างรสทุเรียนเมื่อกัดไปแล้วจะเหมือนกินทุเรียนสดๆ เลย ดังนั้นต้นทุนการผลิตจึงค่อนข้างสูงมาก เทียบกันแล้วต้นทุนสูงกว่าไอศกรีมแบรนด์ดังของต่างประเทศด้วยซ้ำ ฉะนั้น อีกความท้าทายคือต้องพยายามปรับทัศนคติของลูกค้าให้เห็นคุณค่าของไอศกรีมโบราณไทยว่ามีคุณค่าไม่ด้อยกว่าไอศกรีมต่างแดน
“พวกเราจะชินกับไอศกรีมโบราณแท่งละไม่กี่บาท แต่ของผมมาขายแท่งละ 35 บาทอาจจะดูสูง แต่ถ้าเราเจาะไปในรายละเอียด ไอศกรีมต่างชาติแบบแท่งแพงกว่าเราอีก ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของเขาต่ำกว่ามาก การปรับทัศนคติให้ลูกค้าเห็นคุณค่าของไอศกรีมโบราณไทยก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับลูกค้าต่างชาติเรื่องราคาคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สำหรับลูกค้าคนไทย ผมมั่นใจว่าถ้าได้ทดลองชิมไอศกรีม “กินติม” สักครั้งจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง และยอมรับราคานี้ได้” ภาสประภาระบุ
ส่วนช่องทางขาย มีขายที่ร้าน “ล.เยาวราช” ณ ถนนเยาวราช และมีตัวแทนรับไปขายที่ร้านในตลาดน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา และตลาดน้ำสี่ภาค เมืองพัทยา นอกจากนั้นมีบริการบรรจุกล่องโฟมส่งภายในพื้นที่กรุงเทพฯ คิดราคา 650 บาท จำนวน 18 แท่ง สำหรับไว้เลี้ยงในงานประชุม สัมมนา และปาร์ตี้ เป็นต้น
ในส่วนของผู้ที่สนใจจะร่วมทำธุรกิจไอศกรีม ‘KIINTIM’ โดยรับไปวางขายนั้น ภาสประภาเผยเงื่อนไขให้ฟังว่า ขอให้ติดต่อเสนอพื้นที่จะเปิดร้านมาให้พิจารณา หลังจากนั้นจะมีทีมงานไปประเมินทำเล ซึ่งควรจะอยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หากได้รับการพิจารณาแล้วทางทีมงานส่วนกลางจะเข้าไปช่วยตกแต่งสถานที่ และลงอุปกรณ์ต่างๆ ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีเงื่อนไขที่ผู้ร่วมธุรกิจจะต้องรับไอศกรีมไปขายในราคาแท่งละ 23 บาท รับอย่างต่ำครั้งละ 900 แท่ง รวมถึงต้องขายสินค้าให้ได้ตามเป้าที่จะต้องกำหนดร่วมกัน
“ปัจจุบันมีร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไปหลายแห่งอยากให้ผมเอาไอศกรีมและตู้แช่ไปลง แต่ผมต้องปฏิเสธไปเพราะเราต้องการลงในทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อให้สินค้าเหมาะกับที่ตั้ง และกลุ่มลูกค้า ซึ่งผู้ที่สนใจทำธุรกิจนี้ติดต่อเสนอทำเลมาได้เราจะมีทีมงานไปพิจารณา หากผ่านจะแต่งร้านให้ฟรีๆ เลย ทว่า ทำเลที่เราจะยอมลงทุนก็ต้องเป็นทำเลที่เราเห็นว่าดีจริงๆ ซึ่งร้านที่ตลาดน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ตลาดน้ำสี่ภาค เราก็ใช้วิธีนี้” ภาสประภาอธิบาย และเสริมต่อว่า
“เหตุผลที่ผมเลือกใช้วิธีนี้แทนที่จะไปลงทุนเปิดร้านด้วยตัวเอง เพราะผมคิดว่าหากเราจะไปหาทำเลดีๆ ด้วยตัวเองมันเป็นเรื่องยาก อีกทั้งศักยภาพในการดูแลสาขาต่างๆ อาจไม่ทั่วถึง ดังนั้น การหาพันธมิตรซึ่งเขามีทำเลที่ดีอยู่แล้ว และดึงให้เขามาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ น่าจะเป็นแนวทางที่บริหารจัดการได้ง่ายกว่า” หนุ่มเจ้าของธุรกิจกล่าว
อยากทดลองชิมไอศกรีมโบราณสูตรเข้มข้น หรือสนใจอยากร่วมธุรกิจ ติดต่อได้ที่ 08-9927-9425.
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *