xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ขยับขึ้น อานิสงส์ออเดอร์นอกหวนคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ตุลาคมขยับดีขึ้น หลังออเดอร์หวนคืนยอดขายเพิ่ม รับยังผวาการเมืองป่วน แนะรัฐเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนตุลาคม 2556 จำนวน 1,042 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.0, 41.3 และ 28.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.1, 13.7, 16.2, 12.1 และ 11.9 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 83.8 และ 16.2 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 90.4 ในเดือนกันยายน โดยค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันมา 4 เดือน ซึ่งทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขายในประเทศและปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน แสดงให้เห็นว่าการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องกับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี จากความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการให้น้ำหนักมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการมองว่าจะกระทบต่อการดำเนินกิจการในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายนว่าจะส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอย่างไร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.5 ในเดือนกันยายน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนตุลาคม พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับลดลงจากเดือนกันยายน

โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 85.0 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.6 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 92.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.6 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหการ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจากระดับ 98.7 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.6 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนการผลิต และผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกันยายนนี้คือ ต้องการให้ภาครัฐเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงพัฒนาด่านเข้า-ออกของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และทันสมัย เพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้ากับประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น