เอกชนแนะผ่าทางตันปัญหาเศรษฐกิจไทยท่ามกลางม็อบส่อรุนแรง โยน “ปู” ตัดสินใจลาออก ยุบสภา ยอมรับแม้จะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดก็ตาม เหตุหากยุบสภาเลือกตั้งใหม่มาถ้าซื้อเสียงคอร์รัปชันก็ไม่หยุดอีก กังวลเศรษฐกิจไทยยิ่งทรุดจากที่ขณะนี้ก็แย่อยู่แล้ว
นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การเมืองที่เริ่มยกระดับการขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาเพราะถือเป็นการออกมาของมหาชนอย่างแท้จริงซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้นอยู่ที่อำนาจของนายกรัฐมนตรีว่าจะตัดสินใจอย่างไรทั้งการลาออกหรือยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม สายตาเอกชนเองไม่ว่าจะเลือกทางใดหากนักการเมืองยังคงยึดประโยชน์ตนเองมากกว่าประเทศชาติปัญหาก็ยังคงมีอยู่ไม่สิ้นสุด
“ทางออกมีก็อยู่ที่อำนาจนายกฯ ทั้งหมด หากมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ถามว่าการเลือกตั้งเมื่อมีการซื้อเสียงเข้ามานักการเมืองก็ต้องเข้ามาคอร์รัปชันถอนทุนคืน และการเมืองบ้านเราเมื่อเข้ามาก็ยึดประโยชน์ตนเองแบบนี้ประชาชนก็จะออกมาขับไล่อีก จึงอยากเห็นการเมืองได้เน้นทำประโยชน์เพื่อชาติเป็นหลัก เช่นเผด็จการรัฐสภาประเทศอื่นๆ เขาทำกันเขาก็อยู่ได้ ผมอยากจะบอกว่าอย่าคิดว่าประชาชนโง่ เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวสารมันไปเร็วมาก” นายสมมาตกล่าว
ทั้งนี้ มีความกังวลต่อระบบเศรษฐกิจไทยมาก เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยนั้นจะแยกออกจากการเมืองค่อนข้างชัดเจน แต่ในช่วงหลังนี้การเมืองได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเข้ามาผูกติดกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุนของไทยที่ชะลอตัวอยู่แล้วยิ่งประสบปัญหามากขึ้นกว่าเดิม
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากการชุมนุมรุนแรงขึ้นทางออกของรัฐบาลก็คือการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจประชาชนเลือกตั้งใหม่ จะเป็นทางออกที่จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่หากปล่อยเวลาให้ยืดเยื้อจะเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ตอนนี้วิตกเรื่องการชุมนุมจะกระทบต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย หรือคนไทยเดินทางไปช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง การท่องเที่ยวเสียหายจะกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้มาก
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมไทย (เอสเอ็มอี) กล่าวว่า คงต้องขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้กลับมามีความสงบเป็นปกติโดยเร็วที่สุด ส่วนจะแก้ปัญหาแบบใดรัฐบาลย่อมจะรู้ดี ทั้งนี้ เนื่องจากฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจหากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นก็จะกระทบให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วลำบากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีก็ลำบากมากตั้งแต่น้ำท่วมปลายปี 2554 ไหนจะโดนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จนตอนนั้นสภาพคล่องแทบไม่มี บางรายต้องกู้หนี้นอกระบบ ขอให้รัฐช่วยตั้งกองทุน 2 หมื่นล้านบาท รัฐก็บอกว่าสถาบันการเงินรัฐก็ปล่อยกู้ได้ ซึ่งถึงวันนี้เอสเอ็มอีรายย่อยก็เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน พอเราจะเริ่มดีขึ้นเศรษฐกิจรอบนี้มีปัญหาก็จะยิ่งซ้ำอีก” นางเพ็ญทิพย์กล่าว