xs
xsm
sm
md
lg

วาดฝัน “แฟชั่นมุสลิมไฮเอนด์” หมัดเด็ดอุตฯ สิ่งทอไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอชูกลยุทธ์ “แฟชั่นมุสลิมไฮเอนด์” หมัดเด่นสร้างจุดขายอุตสาหกรรมแฟชั่นมุสลิมโดย 5 จังหวัดชายแดนใต้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผย 3 กลยุทธ์พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมแก่วิสาหกิจชุมชนทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้าปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมคุณภาพสูงใน AEC

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยวางกลยุทธ์พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านการออกแบบพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาด พร้อมมุ่งเน้นพัฒนารากฐานความรู้และทักษะของนักออกแบบเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยใช้แนวคิดจากประเพณี ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ที่สามารถพัฒนาเป็นลวดลายผ้าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ โดยหวังพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างบุคลากรเตรียมความพร้อมสู่ตลาด AEC และตลาดสากล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้มองเห็นถึงโอกาสอันดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี) ที่เป็นแหล่งผลิตผ้ามุสลิมที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสามารถส่งออกไปขายยังประเทศที่มีความต้องการ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อที่สูงเพื่อเป็นการผลักดันให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการส่งออกและเป็นฐานการผลิตผ้ามุสลิมทั้งในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้ โดยปัจจุบันใน AEC อินโดนีเซียเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิม ซึ่งประเทศไทยต้องสร้างจุดขายด้วยการตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมคุณภาพสูงใน AEC พร้อมเจาะตลาดกลุ่มมุสลิมที่มีกำลังซื้อสูงในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีประชากรมุสลิมรวมทั้งหมดกว่า 1.62 พันล้านคน

“โดยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2556 การส่งออกสิ่งทอไทยมีมูลค่า 3,242 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดอาเซียนที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 524.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากที่สุดคือ ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 201.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.34 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนข้อมูลเครื่องแต่งกายของมุสลิม ประชากรในโลกมุสลิมที่มีจำนวนสูงถึง 2 พันล้านคน คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกซึ่งมีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิมรวมที่ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอาเซียนมีประชากรมุสลิมกว่า 258 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมกว่า 212 ล้านคน มีมูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิม 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในไทยมีประชากรมุสลิม 6.9 ล้านคน มีมูลค่าตลาดของเครื่องแต่งกายมุสลิม 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นางสุทธินีย์กล่าวสรุป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น