xs
xsm
sm
md
lg

ถอดกลเม็ด3เซียนเอสเอ็มอี ทำอย่างไรให้รอดวิกฤต300!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาทเมื่อต้นปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา กระทบต้นทุนผลิตผู้ประกอบการสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจระดับกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งมีข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ทั้งเงินทุน ขีดความสามารถการแข่งขัน ฯลฯ ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ จนหลายราย ยอมยกธงขาว ปิดกิจการ เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยพยายามปรับตัว จนอยู่รอด และก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ อย่างเช่น 3 รายด้านล่างนี้ ที่ไม่เพียงแค่ผ่านวิกฤตได้เท่านั้น แต่ยังใช้เป็นโอกาส เสริมศักยภาพตัวเองให้แกร่งกว่าเดิม ซึ่งกลเม็ด และวิธีการว่าทำอย่างไร จะถูกเฉลยในบรรทัดต่อจากนี้ …
กัณฑ์พัฒน วงศ์ศิริกุล
เทียนแฟนซีสร้างมูลค่าด้วยเอกลักษณ์

ธุรกิจเทียนหอมแฟนซีส่งออก100% จาก จ.นครนายก เดิมจ่ายค่าแรงให้พนักงานวันละ 237 บาทเพิ่มเป็น 300 บาท ส่งให้ต้นทุนผลิตสูงกว่า 23% ประกอบกับในปีที่แล้ว (2555) ตลาดยุโรปซึ่งเป็นผู้ซื้อหลัก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต กระทบให้ยอดออเดอร์ลดไปกว่า 60%

แนวทางปรับตัวทางธุรกิจนั้น “กัณฑ์พัฒน วงศ์ศิริกุล” เจ้าของธุรกิจ เล่าว่า ทำในหลายๆ ด้าน ทว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ สร้างเอกลักษณ์ประจำตัว จากงานออกแบบ และคุณภาพผลิตภัณฑ์ ให้ลูกค้าต้องยอมซื้อในราคาที่แพงขึ้น เพราะไม่สามารถหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาทดแทนได้

พื้นที่ตั้งโรงงานของผม เริ่มปรับค่าแรงรอบแรกตั้งแต่ต้นปี 2555 ประกอบกับค่าวัตถุดิบก็ขึ้นราคา ขณะที่ตลาดยุโรปก็ซบเซามาก กลายเป็นแรงบวกให้ออเดอร์ลดไปอย่างมาก โรงงานเทียนอื่นๆ ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปทำเทียนแท่ง ขายถูกๆ แทน แต่ผมตัดสินใจว่า เราจะไม่ยอมเสียเอกลักษณ์ เพราะถ้าหันไปจับงานที่เราไม่เก่ง ก็คงทำได้ไม่ดี ผมเลยเลือกขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ประมาณ 17-22%ต่อชิ้น ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ไม่ลดคุณภาพ โดยบอกข้อมูลจริงและอธิบายเหตุผลที่ต้องขึ้นราคาแก่ลูกค้า แล้วให้ลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะซื้อหรือไม่” กัณฑ์พัฒน กล่าวและเล่าต่อว่า
ผลิตภัณฑ์หันมาจับตลาดในประเทศ
ผมเชื่อว่าสินค้าเราเป็นตลาดเฉพาะเจาะจง (niche market) ลูกค้าให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา แต่ด้วยราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก ช่วงแรกออเดอร์หายไปกว่า60% ลูกค้าหันไปสั่งสินค้าของจีนหรือเวียดนามแทน แถมบางรายไปว่าจ้างให้โรงงานอื่นๆ ทำเลียนแบบสินค้าเราด้วย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นจุดเสี่ยงที่สุดของธุรกิจว่าเราจะไปต่อได้หรือไม่ จนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ต่างชาติเริ่มกลับมาสั่งออเดอร์เราอีกครั้ง เพราะสินค้าที่เขาไปสั่งจากจีนหรือเวียดนาม คุณภาพสู้เราไม่ได้” เจ้าของธุรกิจ เผย

กัณฑ์พัฒน ขยายความถึงช่วงวิกฤตสุดๆ ลูกค้าหนีหายไปจำนวนมาก เวลานั้น ได้เรียกประชุมพนักงานทั้งหมดราว 60 ชีวิต พูดคุยกันอย่างจริงจัง ชี้แจงจุดยืนและเป้าหมายให้ทุกคนรับรู้ตรงกันว่า บริษัทจะมุ่งทำสินค้าคุณภาพเพื่อเป็นจุดเด่นฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ ขอให้พนักงานร่วมมือร่วมใจกันทำสินค้าให้ได้คุณภาพดีที่สุด ประกอบกับ หันมาจับตลาดในประเทศมากขึ้น จากเดิมส่งออก 100% โดยนำเทียนแฟนซีดอกไม้มาทำเป็นอุปกรณ์สำหรับไหว้พระพุทธรูป และวางบนโต๊ะหมู่บูชา รวมถึงเทียนแฟนซีประจำวันเกิดมอบเป็นของขวัญ เป็นต้น ช่วยให้ปัจจุบัน มีสัดส่วนในประเทศ ประมาณ 10% แม้ว่ายังน้อย แต่ช่วยกระจายตลาดให้กว้างขึ้น ไม่ต้องพึ่ง ส่งออกอย่างเดียว

กรณีของผมที่เลือกจะขึ้นราคา แต่ไม่ลดคุณภาพ หรือหันไปทำสินค้าประเภทอื่น ถือเป็นความเสี่ยงเช่นกัน แต่ผมโชคดีที่เสี่ยงถูกต้อง เพราะผมเชื่อมั่นในพลังของความเป็นสเปเชียลวัน ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ ซึ่งโรงงานเทียนที่หันไปทำสินค้าถูกๆ สุดท้ายก็แข่งกับจีนไม่ได้ ดังนั้น แผนตลาดของเรา จะคงเน้นเรื่องดีไซน์ และออกสินค้า ควบคู่กับการขยายตลาดใหม่ต่อไป” เจ้าของธุรกิจ กล่าว
ชัยยงค์ คชพันธ์
“เห็ดทอดนาโหนด” ปิดจุดอ่อนลดต้นทุน

จากกรณีรายแรก เลือกวิธีผลักต้นทุนเพิ่มไปสู่การขึ้นสินค้า ส่วนรายของ “เห็ดทอดนาโหนด” จาก ต.นาโหนด อ.เมือง จ.พัทลุง ของฝากเลืองชื่อประจำท้องถิ่นแดนใต้ ใช้กลยุทธ์มุมกลับกัน ด้วยการลดต้นทุนทุกด้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย นำมาจ่ายชดเชยค่าแรงสูงขึ้น

“ชัยยงค์ คชพันธ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เห็ดทอดนาโหนด ฟู้ดส์ จำกัด เผยว่า ปัจจุบัน มีพนักงานประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่รับค่าจ้างรายวัน เดิมวันละ 241 เพิ่มเป็น 300 บาท ทำให้แต่ละเดือนบริษัทมีรายจ่ายสูงขึ้นประมาณ 1 แสนบาท

“เนื่องจากสินค้าของเราเป็นประเภทของฝาก ควรจะซื้อได้ง่ายๆ ขายห่อละ 35 บาท แต่หากจะขึ้นเป็น 40 บาท ลูกค้าจะเกิดการต่อต้านทันที ดังนั้น พอรู้ว่ารัฐบาลจะปรับค่าแรง ผมเริ่มวางแผนปรับตัวมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ด้วยการพยายามลดต้นทุนทุกๆ ด้าน โดยไปขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญตามสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยปรับกระบวนการผลิต เช่น ขั้นตอนปรุงรส เดิมเราใช้เวลา 2 นาที แต่หลังปรับกระบวนการใหม่เหลือ 1 นาที ทำให้ใช้พลังงานน้อยลง” นักธุรกิจ เผยและกล่าวต่อว่า

“นอกจากนั้น เราปรับกระบวนการผลิตใหม่ เพื่อลดความสูญเสีย หรือผิดพลาดระหว่างการผลิต ซึ่งทั้งหมดช่วยประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกัน บางขั้นตอน ต้องยอมลงทุนสั่งซื้อเครื่องจักรมาทำงาน เช่น การบรรจุ ทำให้ประหยัดการต้องจ้างพนักงานเพิ่มถึง 10 คนทีเดียว” ชัยยงค์ ระบุ

ไม่ใช่เฉพาะการลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจเท่านั้น ผู้บริหารหนุ่ม ได้นำผลิตภัณฑ์เห็ดทอดจากชุมชน ขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มใหม่ๆ ด้วยการแตกแบรนด์ใหม่เป็นขนมคบเคี้ยว หรือสแน็ค ในชื่อ ‘เฮลโล เวจจี้’ (Hello Veggie) ผ่านช่องทางตลาดร้านสะดวกซื้อเจ้าดังอย่าง 7-11 (เซเว่น อีเลฟเว่น)

ชัยยงค์ อธิบายว่า ตลาดขนมขบเคี้ยว กลุ่มผู้บริโภคที่กว้าง และขายได้ตลอดทั้งปี โดยความท้าทายอยู่ที่ สินค้ากลุ่มสแน็คมีคู่แข่งเยอะมาก และส่วนใหญ่จะเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ดังนั้น การแตกแบรนด์ ‘เฮลโล เวจจี้’ ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นแค่เห็ดอย่างเดียว ในหนึ่งซองมีผสมทั้งเห็ดและผักต่างๆ เพื่อฉีกหนีจากสินค้าในท้องตลาด ด้วยการชูจุดเด่น ‘เฮลโล เวจจี้’ เป็นสแน็คที่นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย ช่วยให้เด็กๆ ที่ไม่กินผัก สามารถมากินขนมชนิดนี้ได้

ผมเชื่อว่าในทุกวิกฤตมันมีโอกาสเสมอ สิ่งสำคัญอยู่ที่หาเจอหรือเปล่า อย่างกรณีการปรับขึ้นค่าแรง ข้อดีมันเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องพยายามพัฒนาตัวเอง ทั้งด้านสินค้า และพนักงานให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น ถ้าทำได้ คุณก็อยู่รอดได้” เจ้าของธุรกิจหนุ่ม กล่าว

เติมนวัตกรรม สร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่า

เดิมค่าแรง 252 บาทต่อวัน ที่บริษัท เอส.บี.ยูนิตี้ จำกัด ผู้ผลิตหมวกส่งออก ระดับเอสเอ็มอี ใน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ต้องจ่ายให้พนักงาน เพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน ประกอบกับต้นทุนการผลิตต่างๆ ทั้งค่าวัตถุดิบและพลังงาน ปรับตามกันไปทั้งหมด ส่งให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มกว่า 40%

ชลิดา ลี้เทียน เจ้าของกิจการยอมรับว่า ขณะนี้ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงดิ้นรนหาทางรอดอย่างหนัก จากสารพัดปัญหารุมเร้า ทั้งไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มได้ เนื่องจากรายได้หลักมาจากการรับจ้างผลิต (OEM) ให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งคู่ค้าเหล่านี้ ไม่ยอมจะซื้อในราคาที่สูงขึ้น และพร้อมจะย้ายหนีไปจ้างโรงงานจีนหรือเวียดนามแทน หากได้แหล่งผลิตที่ถูกกว่า นอกจากนั้น ยังมีปัญหาแรงงานไหลออกไปทำงานโรงงานขนาดใหญ่ที่งานสบายกว่า และไม่จำเป็นต้องใช้ฝีมือมากนัก แต่ได้ค่าแรง 300 บาทต่อวันเท่ากัน เช่น โรงงานอาหารแปรรูป โรงงานอาหารกระป๋อง เป็นต้น
ชลิดา ลี้เทียน
จากวิกฤตดังกล่าว ชลิดา ระบุว่า การปรับตัว ในส่วนพนักงานจะไม่รับคนใหม่มาแทนรายที่ลาออกไป แต่จะเพิ่มค่าจ้างให้คนที่ยังอยู่ โดยจ่ายสูงกว่าโรงงานขนาดใหญ่เสียอีก ภายใต้เงื่อนไขว่า คนที่ยังอยู่ต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือดีจริงๆ และต้องยอมทำงานหนักขึ้น ให้ได้คุณภาพและปริมาณทดแทนกำลังผลิตที่ลาออกไป

อีกด้าน มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหมวก โดยแตกแบรนด์ใหม่ของตัวเองว่า “SB unity” โดยเป็นหมวกที่มีดีไซน์แปลกใหม่ มีนวัตกรรมแตกต่าง อาศัยประสบการณ์ส่วนตัวในการสร้างสรรค์ ประกอบกับดูกระแสจากประเทศเจ้าแฟชั่น เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น แล้วนำมาประยุกต์ ตั้งคติประจำตัวว่า แบบที่คิดขึ้นต้องไม่ซ้ำกับเมื่อวาน เน้นให้มีลูกเล่นหลากหลาย ใช้งานได้มากกว่าหมวกธรรมดา เช่น พับเก็บได้ ใส่ได้ 2 ด้าน และหมวกเปลี่ยนรูปทรงได้ เป็นต้น ส่วนคุณภาพ เน้นผ้าเนื้อดี เย็บประณีตแข็งแรง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ควบคู่กับนำสินค้าไปเปิดตลาดใหม่ๆ ที่จะขายได้มูลค่าสูงกว่าเดิม เช่น ตามโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น
หมวกที่มีนวัตกรรม พับเก็บได้
ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจซบเซา ผู้ประกอบการต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะการลดต้นทุนทุกๆ ด้าน แต่ต้องคงคุณภาพให้ดีเหมือนเดิม เพื่อที่ขายสินค้าคุณภาพดีในราคาไม่สูงเกินไป ให้ลูกค้ายอมรับได้ ขณะเดียวกัน ในฐานะเถ้าแก่ ก็ต้องตื่นตัวในการทำตลาดตลอดเวลาด้วย” สาวแกร่ง กล่าวในตอนท้าย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น