xs
xsm
sm
md
lg

อคส.เซ็ง รับหน้าเสื่อเข้าบริหาร “ร้านถูกใจ” แบบไร้งบหนุนจากรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมการค้าภายใน แจงความคืบหน้า ร้านถูกใจ ที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคม นี้ แต่โครงการจะยังเดินหน้าต่อ โดยให้อคส.เข้ามาบริหารแทน และรัฐจะไม่ได้อุดหนุนงบประมาณ เพราะร้านที่เข้าร่วมโครงการสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง ส่วนร้านถูกใจที่เหลืออยู่ขณะนี้ 6-7 พันราย จากเป้าที่ตั้งไว้ 1หมื่น รายทั่วประเทศ ชี้จำนวนที่หายไป เกิดจากการกำหนดยอดขาย และงดให้ค่าจ้างพนักงาน

นางสาววิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ว่า ล่าสุดกรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการดำเนินการปิดบัญชีโครงการฯ ภายในเดือนมีนาคมนี้ จากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ 1.32 พันล้านบาท และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มีนาคม 2556 ซึ่งหลังจากนี้โครงการจะยังคงเดินหน้าต่อ โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส. ) เข้ามาบริหารแทน และรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุนงบประมาณอีกต่อไป เนื่องจากร้านถูกใจที่เหลืออยู่สามารถช่วยร้านโชห่วยดั้งเดิมที่เข้าร่วมโครงการให้มีความเข้มแข็งได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยมีสินค้าดีราคาถูกขายให้กับลูกค้าได้ทั่วประเทศ

"การที่อคส.จะเข้ามาดูแลร้านถูกใจ รัฐบาลจะไม่ให้งบประมาณสนับสนุน เนื่องจาก อคส. สามารถมีรายได้จากการบริหารจัดการโครงการนี้เพราะจำนวนร้านถูกใจกว่า 6 พันแห่งถือว่ามีจำนวนมากพอสมควรที่ซัพพลายเออร์เองก็สนใจ ที่จะมาทำธุรกิจด้วย เพื่อให้เป็นเอาท์เลตในการวางขายสินค้าของเขาส่วนแนวคิดการปรับปรุงร้านโชห่วยให้เป็นร้านโชสวยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ เป็นขั้นตอนต่อไปที่จะต้องมาหารือกันว่าจะมีความร่วมมือได้อย่างไร"

สำหรับสถานะ ณ ปัจจุบัน มีจำนวนร้านถูกใจเหลืออยู่จำนวน 6 -7 พันร้านค้า จาก เดิมเป้าหมายรัฐบาลกำหนดไว้ที่ 1 หมื่นร้านทั่วประเทศ โดย พบว่าจำนวนร้านค้าปลีกที่หายไป มาจากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดมากขึ้นในการกำหนดวงเงินยอดค้าขาย และงดการให้การสนับสนุนค่าจ้างพนักงานขายโดยจ่ายค่าแรงให้วันละ 300 บาทหรือ ตกเดือนละ 9 พันบาทเนื่องจากต้องการให้ร้านถูกใจที่ถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้ประกอบการโชห่วยตัวจริง และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยร้านค้าในกรุงเทพฯเลิกขายประมาณ 20-30% ขณะที่ต่างจังหวัดมีเลิกขายไม่กี่ราย

“ทั้งนี้ จำนวนร้านถูกใจที่เหลือขณะนี้ เขาสามารถที่จะทำธุรกิจต่อเนื่องได้ ซึ่งทางกรมการค้าภายใน มีแผนจะโอนโครงการให้ทาง อคส. เข้ามาบริหารจัดการแทนทั้งหมด เนื่องจาก ปัจจุบัน อคส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบการบริหารร้านถูกใจ ถึง 40 %ของการทำงานอยู่แล้ว เช่น ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าและชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ซัพพลายเออร์ หลังจาก รับคำสั่งซื้อที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทยจำกัด เป็นผู้รวบรวมออร์เดอร์มาส่งให้และ เป็น distributor อยู่แล้ว และ อคส.ยังเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนให้ร้านถูกใจเช่น ข้าวถุง จึงมีความพร้อม ที่จะประสานกับ ผู้ผลิตสินค้า และ ผู้จัดส่งสินค้าที่เป็นเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ให้”

อย่างไรก็ดีจำนวนร้านถูกใจที่เหลืออยู่ 6-7 พันแห่ง สามารถเป็นเอาท์เลต ที่ดี ให้กับกระทรวงพาณิชย์ และองค์การคลังสินค้าในการช่วยกระจายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และ ช่วยถ่วงดุล ไม่ให้ สินค้าบางรายการถูกฉวยโอกาสขึ้นราคาตามอำเภอใจ สำหรับการโอนร้านถูกใจให้ อคส.เป็นผู้ดูแล จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารร้านถูกใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในสัปดาห์หน้าและ เสนอผลสรุปโครงการทั้งหมด ในรอบ 1 ปี ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาภายในสิ้นเดือนนี้ ทำให้ช่วงนี้ ได้สั่งการให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าล็อตใหม่ และการส่งสินค้าไว้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น