xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เร่งติดตั้งคอมพ์ หวังใช้ใบประทวนอิเล็กทรอนิกส์รับจำนำข้าว ป้องกันเวียนเทียนและสวมสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” เร่งออกใบประทวนอิเล็กทรอนิกส์รองรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง หวังแก้ปัญหาข้าวเวียนเทียน สวมสิทธิ์เกษตรกร ใช้งบ 90 ล้าน ให้ อคส.เร่งตั้งคอมพิวเตอร์ทุกจุดจำนำ และทุกคลังสินค้า ส่วนการปัญหาข้าวถุง–ห้างค้าปลีก เร่งไกล่เกลี่ยคลอดสัญญากลางเก็บค่าโสหุ้ย

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งดำเนินโครงการออกใบประทวนอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันภายในโครงการรับจำนำนาปรัง ฤดูกาลผลิต 2556 เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับจำนำแก่เกษตรกร และป้องกันปัญหาการทุจริตในการออกใบประทวนแก่ชาวนา ตามนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้บูรณาการระบบข้อมูลการจำนำข้าวและการเชื่อมโยงข้อมูลการรับจำนำด้วยกันทั้งระบบ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมาให้แล้วเกือบ 90 ล้านบาท และมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ตามจุดรับจำนำและคลังสินค้าในโครงการรับจำนำทั้งหมด

“ต่อไปเมื่อชาวนานำข้าวเข้ามาจำนำในโครงการก็จะได้รับใบประทวนรวดเร็วขึ้น และส่งผลดีต่อการตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรผู้เข้าร่วมจำนำ สามารถป้องกันการทุจริตการสวมสิทธิ์เกษตรกร และตรวจสอบสต๊อกข้าวได้ทั้งระบบทันที เพราะจะเป็นการบันทึกและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และอื่นๆ ในที่เดียวกัน”

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2556 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูล เพื่อรายงานแนวทางการดูแลโครงการจำนำ ตั้งแต่การรับจำนำ การจัดเก็บ และการป้องกันการทุจริต ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในเดือน มี.ค.นี้ โดยเงื่อนไขการรับจำนำจะใช้เงื่อนไขเดิม รับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ไม่จำกัดปริมาณ ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะอยู่ที่ 11 ล้านตัน

สำหรับการจัดทำสัญญามาตรฐานกลางค่าธรรมเนียมในการขายสินค้า (โสหุ้ย) ระหว่างผู้ผลิตข้าวถุงและสินค้าอื่นๆ กับผู้ค้าปลีกว่า สมาคมผู้ค้าปลีกจะหารือกับสมาคมผู้ผลิตข้าวถุงในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดรายละเอียดการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการคิดค่าธรรมเนียม เพื่อให้เกิดความพอใจและเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และจึงค่อยนำเสนอให้กรมฯ นำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญด้านค้าปลีกภายใต้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ก่อนที่จะกำหนดเป็นเกณฑ์ปฏิบัติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น