“พาณิชย์” ดิ้นเดินหน้าร้านถูกใจต่อ หลังจะหมดโครงการ มี.ค.นี้ เล็งดึงผู้ผลิต ผู้ค้าส่งค้าปลีกช่วยกระจายสินค้า หลังชื่อติดตลาด ประชาชนชอบ เผยล่าสุดมีร้านค้าเหลือเพียง 6.8 พันร้าน จับตาไม่น่าเกินกลางปีปิดกิจการหมด เหตุโอกาสได้สินค้าราคาถูกมาจำหน่ายริบหรี่
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังพิจารณาว่าจะมอบหมายให้หน่วยงานใดเข้ามาดูแลโครงการร้านค้าถูกใจ เพราะหลังสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2556 งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าครองชีพประชาชนผ่านโครงการจะหมดลง โดยกรมฯ ได้ประสานไปผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกในการจัดทำแนวทางในการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ร้านค้าถูกใจ เพราะผู้ประกอบการร้านค้าถูกใจส่วนใหญ่ยังต้องการให้ใช้ชื่อร้านถูกใจต่อไป รวมถึงประชาชนก็ได้รับรู้แล้วว่าการเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าถูกใจจะได้ราคาถูกกว่าการซื้อในร้านค้าปกติ 20%
ทั้งนี้ ร้านถูกใจที่จะดำเนินการต่อจะยังคงจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพจากผู้ผลิตสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งสบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำตาลทราย น้ำมันปาล์ม เครื่องปรุงรส ไข่ไก่ และยังมีสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน คือ ข้าวถุงยี่ห้อ อคส. ที่จะมีการจัดทำขนาดให้ตรงกับความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทั้งถุง 1 กิโลกรัม (กก.) และถุง 5 กก.
“เดิมกรมฯ เคยให้การสนับสนุนค่าขนส่งในการจัดส่งสินค้าไปยังร้านถูกใจ แต่เมื่อโครงการสิ้นสุดลง กรมฯ ก็จะหาทางดึงให้ผู้ผลิต ผู้ค้าส่งค้าปลีก เข้ามาช่วยเป็นคนกลางในการกระจายสินค้าให้ร้านถูกใจ เพราะตอนนี้ประชาชนให้การรับรู้แล้วว่าสินค้าในร้านถูกใจมีราคาถูก จึงต้องการที่จะผลักดันให้ร้านถูกใจมีการดำเนินการต่อ” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจร้านถูกใจว่าร้านค้าใดมีความประสงค์ที่จะจะดำเนินการต่อหลังสิ้นสุดโครงการในเดือน มี.ค. เพื่อที่จะได้ประสานผู้ผลิต ผู้ค้าส่งค้าปลีกในการจัดส่งสินค้า ซึ่งการสำรวจล่าสุดมีร้านค้าถูกใจดำเนินการเหลืออยู่เพียง 6,800 ราย จากเดิม 10,000 ราย
สาเหตุที่ร้านถูกใจบางส่วนได้เลิกเข้าโครงการร้านถูกใจตั้งแต่กลางปี 2555 เนื่องจากกรมการค้าภายในได้ยุติการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าจ้างรายวันๆ ละ 300 บาท โดยลดลงเหลือวันละ 200 บาท และต่อมายกเลิกการจ่ายเงินช่วยเหลือ และบางร้านมีปัญหาในเรื่องการจัดส่งสินค้า ที่ได้รับสินค้าล่าช้า หรือได้สินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่ง ทำให้สินค้าไม่มีขาย ก็เลยไม่อยากสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่าย
นอกจากนี้ หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ทำให้กลุ่มแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็เลยหันไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก แทน และมีการประเมินว่า ไม่น่าจะเกินกลางปีนี้ ร้านถูกใจน่าจะยุติบทบาทลง เพราะแม้จะมีผู้ผลิต ผู้ค้าส่งค้าปลีกเข้ามาช่วยกระจายสินค้า แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้สินค้าในราคาถูกกว่าปกติ 20% มาจำหน่าย
สำหรับโครงการร้านถูกใจ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในวงเงิน 1,320 ล้านบาท ให้ดำเนินการพัฒนาร้านค้าชุมชนให้เป็นร้านถูกใจ ตั้งเป้ามีประมาณ 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ โดยจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาถูกกว่าท้องตลาดปกติ 20%