xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ลดต่อเนื่อง ผปก.หวั่นบาทแข็ง-พลังงาน-ค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ประธาน ส.อ.ท.เผยผลดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ม.ค. 56 พบกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมความเชื่อมั่นลด ชี้อุตฯ เฟอร์นิเจอร์ หัตถอุตสาหกรรม คาดอีก 3 เดือนยังไม่ฟื้น ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดลงเช่นกัน กังวลค่าแรง 300, พลังงงานราคาสูง และบาทแข็ง แนะผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายหาแหล่งต้นทุนต่ำ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ม.ค. 2556 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงอยู่ที่ระดับ 83.6 จากระดับ 93.2 ในเดือนธันวาคม 2555 โดยเฉพาะในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์, หินแกรนิตและหินอ่อน รวมถึงหัตถอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมขนาดกลางมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเช่นกันอยู่ที่ 98.8 ลดลงจากระดับ 99.4 ในเดือนธันวาคมปี 2555 ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับตัวลดลงอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมขนาดใหญ่กลับมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 107.2 จากระดับ 104.4 ในเดือนธันวาคม 2555 ทั้งนี้ หากมองดัชนีภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยดัชนีก็ปรับลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับลดลงจากระดับ 98.8 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME) ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งให้ปรับสูงขึ้น กอปรกับราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค.ลดลงและมีค่าต่ำกว่าระดับ 100

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการประกอบการของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 56 นั้น ยังคงเป็นราคาน้ำมัน รองลงมาคือ อัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องการให้ภาครัฐจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และยกเลิกหรือลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีรับจ้างทำของ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจ และสร้างธุรกิจให้มีความเข้มแข็งในรูปแบบคลัสเตอร์ ตลอดจนผลักดันให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทักษะ และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการกับผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น