“กกร.” ถกวันนี้ เฟ้นหามาตรการรรับมือผลกระทบค่าแรงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หลังเอสเอ็มอีส่งออกเริ่มกระทบ หวั่นระยะยาวออเดอร์ต่างชาติเผ่นหนีไปเพื่อนบ้านเหตุสินค้าไทยแพงกว่า ยื่นรัฐอัดยาแรงรับมือค่าแรงตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรง ขณะที่ค่าเงินบาทต้องการให้รัฐเกาะติด 13 ประเทศคู่แข่งส่งออกไทย
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันนี้ (4 ก.พ.) ภาคธุรกิจจะร่วมกันหามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศและค่าเงินบาทแข็งค่า เนื่องจาก 2 ปัจจัยดังกล่าวทำให้สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบมากต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มหากปล่อยไว้คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) อาจหนีไทยแล้วไปหาเพื่อนบ้านที่มีราคาต่ำได้
“ตอนนี้มีลูกค้าหลายรายหันไปซื้อสินค้าจากเพื่อนบ้านที่ถูกกว่าไทยอย่าง จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และอินเดีย เป็นต้น เพราะนอกจากต้นทุนการผลิตต่ำแล้ว การแข็งค่าของค่าเงินยังน้อยกว่าไทยด้วย” นายวัลลภกล่าว
สำหรับเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้น ส.อ.ท.จะเสนอแนวทางการช่วยเหลือแบบยาแรงด้วยการจัดตั้งกองทุนในการจ่ายเงินส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ แต่จะเพิ่มเงื่อนไขให้รัฐบาลจ่ายงบประมาณน้อยที่สุด เช่น กำหนดการช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ แบบขั้นบันได หากผู้ประกอบการกลุ่มใดต้นทุนสูงไม่เกิน 5% ไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่หากอยู่ระดับ 5-10% จะให้ช่วยเหลือระดับหนึ่ง และต้นทุนเกิน 10% ก็จะให้การช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการที่รัฐออกมาก่อนหน้านี้ยังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
ส่วนเรื่องของค่าเงินบาทนั้น กกร.จะร่วมกันหามาตรการเพิ่มเติมที่จะนำไปเสนอให้ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือ หลังจากที่ผ่านมาตัวแทนของ ส.อ.ท.ได้เข้าพบ ธปท.มาแล้ว เบื้องต้นเอกชนต้องการให้ ธปท.เกาะติดสถานการณ์ค่าเงินประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกของไทย 13 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ รวมถึง จีน, อินเดีย, ศรีลังกา และบังกลาเทศ เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีการส่งออกสินค้าในลักษณะที่คล้ายและตลาดระดับใกล้เคียงกับไทย
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การประชุม กกร.ในวันที่ 4 ก.พ. 56 ทางกลุ่มจะยอมเสียสละไม่เข้าร่วมประชุมเนื่องจากไม่ต้องการให้เสียภาพลักษณ์ของ ส.อ.ท. เพราะหากเข้าประชุมกันทั้งสองกลุ่มอาจเพิ่มปัญหาความขัดแย้งจนในอนาคตเกรงว่า กกร.จะตัด ส.อ.ท.ออกจากการเป็นสมาชิกก็ได้