3 องค์กร สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร เผยตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร พบภาคการผลิตลดลงร้อยละ 2 ครั้งแรกในรอบ 4 ปี เหตุผลกระทบจากการชลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ ข้าว กุ้ง ผัก และผลไม้แปรรูป หดตัวร้อยละ 27.1, 12.5 และ 7.3 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกปี 2555 ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 0.8 โดยตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ขยายตัวสูงสุด อยู่ที่ 9.7, 5.8 และ 19.1 ตามลำดับ คาดแนวโน้มการแข็งค่าเงินบาทเพิ่ม 1 บาท กระทบส่งออกเพียงร้อยละ 3.9
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ล่าสุด 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร ได้มีการสรุปภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2555 พบว่า ภาคการผลิตหดตัวลงร้อยละ 2 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี สืบเนื่องมาจาก ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลก ส่งผลให้ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีการสั่งซื้อลดลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคการส่งออกยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 คิดเป็นมูลค่า 971,689 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักจากการหดตัวของการส่งออก ได้แก่ ข้าว กุ้ง ผัก และผลไม้แปรรูป โดยมีการหดตัวลงร้อยละ 27.1, 12.5 และ 7.3 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ตลาดมีการขยายตัวดีในอัตราร้อยละ 9.7, 5.8 และ 19.1 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายเพ็ชรกล่าวต่อว่า ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว, ผักผลไม้แปรรูป, ปลาแปรรูป, กุ้ง และเครื่องปรุงรส จะต้องรับศึกหนัก ทั้งอาจเสียเปรียบการแข่งขันในสินค้า ข้าว กุ้ง ปลาทะเลแปรรูป กับเวียดนามมากขึ้น และส่วนสินค้าที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ข้าว กุ้ง ทูน่าแปรรูป และสับปะรด อาจสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน เมื่อพบส่วนแบ่งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2556 ภาคการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 6.0 ด้วยมูลค่า 1,030,000 ล้านบาท โดยไก่และสัตว์ปีก มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลากระป๋อง และปลาแปรรูป เครื่องปรุงรส และทูน่าแปรรูป เป็นสินค้าดาวเด่นในปีนี้ ส่วนน้ำตาลทราย และผักผลไม้สด อาจต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งสำหรับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบมูลค่าส่งออก หากค่าเงินแข็งขึ้นอีก 1 บาท คาดการณ์การส่งออกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.9 อยู่ที่มูลค่า 1,009,600 ล้านบาท
โดยสรุปภาพรวมการส่งออกอาหารไทยปี 2555 มีมูลค่า 971,689 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ทั้งนี้สัดส่วนสินค้าอาหารส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของไทยในปี 2555 ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 14.6, น้ำตาลทราย ร้อยละ 12.5, กุ้ง ร้อยละ 9.9, ปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ร้อยละ 8.4 และไก่และสัตว์ปีก ร้อยละ 7.4 ตามลำดับ
ส่วนสินค้าที่มีอัตราขยายตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง คือมากกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ น้ำตาลทราย ร้อยละ 11.7, ปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ร้อยละ 19.1, ไก่และสัตว์ปีก ร้อยละ 10.3, ผักผลไม้สด ร้อยละ 21.7, อาหารสัตว์ ร้อยละ 16.6 และปลากระป๋องและปลาแปรรูป ร้อยละ 22.7 ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว มีอัตราลดลงร้อยละ 27.1, กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ลดลงร้อยละ 12.5 และผักผลไม้แปรรูป ลดลงร้อยละ 7.3 อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารส่งออกทั้งสามกลุ่มดังกล่าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในอันดับที่ 1, 3 และ 6 ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึงร้อยละ 31 ดังนั้นการหดตัวของทั้ง 3 กลุ่มสินค้าจึงส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2555