xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เผยคนไทยเห่อสินค้าออแกนิกโต 15%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์
ไทยร่วมงาน “ออแกนิกส์โลก” BIOFACH ตะลึงนวัตกรรมโรงแรมใช้แต่ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เกาะเทรนด์รักษ์โลก-สิ่งแวดล้อม พาณิชย์เผยกลยุทธ์เจาะตลาดทั้งใน-ต่างประเทศ เชื่อมโยงแหล่งผลิต กระตุ้นการบริโภค คาดส่งออกโต 10% บริโภคในประเทศขยายตัว 15%

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเดินทางตามยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร และการสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการว่า ไทยได้นำภาคเอกชนเข้าร่วมงานแสดงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ออแกนิก (BIOFACH) ระหว่างวันที่ 13-16 ก.พ. 56 ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีผู้ขายเข้าร่วมงานกว่า 2,420 ราย คาดว่าจะมีผู้ซื้อเข้าชมงานกว่า 40,313 คนจาก 130 ประเทศ โดยกิจกรรมของไทยจะมีการสาธิตการทำอาหารจากผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไทย การเข้าพบผู้ซื้อผู้นำเข้า การหารือเพื่อแลกเปลี่ยนทิศทางสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับการผลิตการตลาดในไทย รวมถึงการศึกษาดูงานการผลิต การตลาดครบวงจร

“การดูงานออแกนิกส์ นอกจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่บริหารจัดการอย่างเป็นระบบทั้งการปลูกผัก ผลไม้ ธัญพืช เลี้ยงสัตว์และผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานอินทรีย์ มีการตรวจสอบรับรองอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังมีโรงแรมอินทร์ อาหารและเครื่องดื่มในโรงแรมทั้งหมดเป็นอินทรีย์ (ออแกนิก) มีบริการสปาและบำบัดด้วยผลิตภัณฑ์อินทรีย์ นอกจากนี้ในส่วนตัวโรงแรมยังสร้างจากวัสดุก่อสร้างที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบให้เป็นโรงแรมประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม” นางนันทวัลย์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ในปี 56 ผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. การพัฒนาผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตร ด้วยการอบรมให้ความรู้ในด้านกาตลาดและการทำธุรกิจ 2. การขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ในกรุงเทพฯ จะมีการจัดออร์แกนิก พาวิลเลียน ในงานแสดงสินค้าอาหารไทยเฟ็กซ์ (Thaifex-World of Food Asia) และงาน Organic & Natural Expo 2013 ระหว่างวันที่ 9-12 พ.ค. 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

3. การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการให้ความรู้และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด รวมทั้งผลักดันให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และ 4. สนับสนุนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดทำรวบรวมข่าวสารทั้งหมดเพื่อเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ (CIM) โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ขายตัว 10% ขณะที่การบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 15%

ด้านนางดวงกมล เจียมบุตร ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กล่าวเพิ่มเติมถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกและเยอรมนีว่า การเพาะปลูกผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์มีพื้นที่ในโลก 37 ล้านเฮกเตอร์ จากผู้ผลิต 1.6 ล้านคน ตลาดบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์กว่า 96 % ของมูลค่าการขายอยู่ในภูมิภาคอเมริกา และยุโรป ซึ่งประเทศที่มีความต้องการสูงสุดได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และลักเซมเบิร์ก เฉพาะในยุโรปยอดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ คิดเป็น 19,600 ล้านยูโรต่อปี ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป คือ เยอรมนี มียอดขายสูงถึงปีละ 6,000 ล้านยูโร รองลงมาคือ ฝรั่งเศส 3,400 ล้านยูโร อังกฤษ 2,000 ล้านยูโร)

“ผู้บริโภคสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ในเยอรมนีปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 12-18 ล้านคน คิดเป็น 17-20 ของประชากร โดยจำหน่ายผ่าน 6 ช่องทางการตลาด ได้แก่ ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เกตทั่วไป เช่น Basic, Alnatura, Reformhaus, Bio Market, ซูเปอร์มาร์เกตแบบเคานต์สโตร์ ปัจจุบันเข้ามามีบทบาทต่อตลาดเป็นอย่างมาก ทำให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างขึ้นเพราะเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารทั้งหมด มีจำนวนสาขามากและตั้งอยู่ในทำเลที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย, ร้านจำหน่ายเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์/ซูเปอร์มาร์เกตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ, ร้านสินค้าเพื่อสุขภาพ (Reform House), ร้านเบเกอรี และร้านของผู้ผลิตโดยตรง” นางศรีรัตน์กล่าว

ิอย่างไรก็ตาม สินค้าที่ได้รับความนิยมและมีสัดส่วนการตลาดสูง ได้แก่ ผักผลไม้สด ขนมปัง อาหารเด็ก อาหารอื่นๆ รวมทั้งเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม สำหรับข้าวอินทรีย์ยังคงมีแนวโน้มในระดับดีโดยเฉพาะข้าวไทย แนวโน้มอาหารอินทรีย์ในปัจจุบันปัจจัยที่เกี่ยวกับการสิ่งแวดล้อม การรณรงค์เชิงนิเวศ (eco-labels) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการอาหารไทยจะต้องปรับตัวหากต้องการเสนอขายสินค้าดังกล่าวมาในตลาดยุโรป นอกจากนี้แล้วยังต้องคำนึงถึงกฎระเบียบการนำเข้าอื่นๆ เช่น การมาตรการการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การห้ามนำเข้าสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของจีเอ็มโอ กฎหมายควบคุมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น