สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มเอสเอ็มอี และโอทอป ตลอดจนธุรกิจบริการร้านอาหาร เร่งพัฒนาคุณภาพการผลิตอาหารฮาลาล สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอาหารฮาลาลที่มีอยู่ทั่วโลก หรือราวร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าอาหารโลก แนะจับตาตลาดใหม่มีกำลังซื้อสูง เช่น ตุรกี โมร็อกโก ได้เปรียบเรื่องชัยภูมิที่ดี มีศักยภาพในการลงทุนและการกระจายสินค้าเชื่อมต่อตะวันออกกลาง และยุโรปตอนใต้
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เชื่อมั่น ปลอดภัย มาตรฐานฮาลาลไทยสู่สากล” ว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สถาบันอาหารดำเนิน “โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตอาหารฮาลาลในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการอาหารฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม สามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองความเชื่อมั่นสำหรับตลาดมุสลิมในประเทศและตลาดฮาลาลโลก
ทั้งนี้ ทางสถาบันอาหารได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ กระบวนการผลิตสินค้าที่ถูกควบคุมให้มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักการศาสนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องตามลักษณะการบริโภคของกลุ่มลูกค้าในระดับต่างๆ รวมถึงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการภายในกลุ่มวิสาหกิจและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตลอดจนร้านอาหารให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้ภาวะการแข่งขัน
ทั้งนี้ ประมาณการว่าตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการจนถึงปี 2561 จะมีผู้ประกอบการด้านอาหารฮาลาลทั่วประเทศได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 224 ราย มีผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลใหม่ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาไม่น้อยกว่า 23 ผลิตภัณฑ์ และมีบุคลากรได้รับการพัฒนายกระดับองค์ความรู้ไม่น้อยกว่า 1,185 คน
โดยได้กำหนดจัดกิจกรรมต่างๆ ไว้หลากหลาย เช่น กิจกรรมพัฒนาสถานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นท้องถิ่น (ล้ง) เพื่ออุตสาหกรรมกลางน้ำ กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลด้วยการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลให้สอดคล้องตามหลักการศาสนาและมีมาตรฐานความปลอดภัย กิจกรรมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารฮาลาลให้มีความหลากหลายทั้งด้านคุณลักษณะผลิตภัณฑ์และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องต่อความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาร้านอาหารฮาลาลอนามัยใส่คุณภาพและความปลอดภัย เป็นต้น
นายอมรยังได้กล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มสินค้าอาหารฮาลาลไทย และตลาดฮาลาลโลกว่า ในปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ประเมินว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.7 พันล้านคน โดยจะมีประชากรมุสลิมร้อยละ 24.9 หรือประมาณ 1.9 พันล้านคน และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.4 ของประชากรโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าขนาดประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมีความเคร่งครัดในการบริโภคอาหารตามหลักศาสนาที่เรียกว่าอาหารฮาลาลนั้นมีขนาดใหญ่มากในตลาดโลก ประเมินว่าเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก และหากรวมถึงกลุ่มประชากรที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม แต่มีความเชื่อมั่นว่าอาหารฮาลาลนั้นสะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าแฝง ก็เชื่อได้ว่าตลาดอาหารฮาลาลนั้นน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ใน 3 ของตลาดอาหารโลก
“การประเมินมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกนั้นมีหลายสำนักที่มีการประเมินกัน เนื่องจากไม่มีระบบบันทึกการค้าที่เจาะจงว่าเป็นสินค้าฮาลาล บางแห่งประเมินโดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารของประชากรเฉลี่ยของแต่ละประเทศ แล้วคูณด้วยจำนวนประชากรผู้นับถือศาสนาอิสลามในแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของสถาบันอาหารจะประเมินจากสมมติฐานที่ว่าสินค้าอาหารที่มีศักยภาพเป็นอาหารฮาลาลได้ทั้งโดยธรรมชาติและโดยต้องผ่านการรับรอง จึงได้ตัดมูลค่าการค้าอาหารที่ไม่ใช่ฮาลาลแน่นอน คือ เนื้อหมู สุรา ออกไปเท่านั้น เพราะอาหารฮาลาลนั้นยังมีกลุ่มผู้บริโภคแฝงซึ่งไม่สามารถประเมินได้ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหนที่ให้ความสำคัญเลือกบริโภคอาหารฮาลาลนี้ด้วย จากสมมติฐานที่กล่าวไปแล้วพบว่า มูลค่าการค้าอาหารโดยรวมในตลาดโลกปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 1,063.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นอาหารที่มีศักยภาพเป็นอาหารฮาลาลอยู่ 957.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าอาหารทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการส่งออกอาหารของไทยค่อนข้างพึ่งพิงตลาดเก่าอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลียอย่างมาก เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือปัญหาการกีดกันทางการค้าจึงส่งผลกระทบมาก จึงขอแนะนำตลาดใหม่ซึ่งจะเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นโอกาสของฮาลาลไทยในวันนี้ ประกอบด้วย ตุรกี อียิปต์ และโมร็อกโก สำหรับตุรกีนั้นคนรุ่นใหม่เปิดกว้างในการทดลองอาหารใหม่ๆ รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารในตุรกีต้องควบคุมการผลิตเข้มงวดมากขึ้น กฎระเบียบมาตรฐานอาหารในตุรกีจึงมีแนวโน้มที่เข้มงวดในระดับสากลมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจะเข้าเป็นสมาชิก EU อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการไทยยังถือว่าตุรกีมีข้อกีดกันทางการค้าในระดับต่ำและมีบรรยากาศที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุน ผู้ผลิตอาหารในตุรกีส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กๆ เป็นธุรกิจแบบบุคคลเป็นเจ้าของ มีประมาณ 2 หมื่นราย กว่าร้อยละ 60 คือผลิตภัณฑ์เบเกอรี
ตุรกีเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะขนาดตลาดที่ใหญ่ มีประชากรถึง 80 ล้านคน มีอัตราขยายตัวของการบริโภคในระดับสูง ประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูง นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปปีละมากกว่า 36 ล้านคน อาหารแปรรูปมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยปี 2554 ตุรกีนำเข้าอาหารมูลค่า 8,015.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราขยายตัวร้อยละ 41.99 จากปี 2553 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณร้อยละ 4.07 ขณะที่ด้านการส่งออก ตุรกีส่งออกมูลค่า 13,363.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหลักคือ อิรัก สหภาพยุโรป รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และยูเครน สินค้าอาหารที่ตุรกีนำเข้าส่วนใหญ่อยู่ในรูปวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี เมล็ดพืชน้ำมัน น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันปาล์มดิบ ถั่วเหลือง ถั่วเลนทิลเมล็ดแห้ง เนื้อวัวเมล็ดโกโก้ วอลนัต อัลมอนด์ เฮเซลนัต ข้าวเปลือก เนื่องจากตุรกีมีผู้แปรรูปอาหารจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จากสถิติมูลค่านำเข้าจะพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราขยายตัวระดับสูง รวมทั้งการส่งออกอาหารของตุรกีก็ขยายตัวในทิศทางเดียวกัน เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 13 ในช่วง 5 ปี
ความน่าสนใจของตุรกีสำหรับผู้ส่งออกไทยในอีกมุมหนึ่งคือ ตลาดส่งออก 1 ใน 5 ของตุรกีคืออิรัก นอกจากนี้ยังมีตลาดส่งออกที่น่าสนใจอื่นๆ คือ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ยูเครน อิหร่าน ที่ไทยอาจใช้ตุรกีเป็นผู้เชื่อมต่อประเทศเหล่านี้ได้ ปัจจุบันไทยยังค้าอาหารกับตุรกีน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่านำเข้าอาหารทั้งหมดของตุรกี ในปี 2555 ที่ผ่านมาไทยส่งออกอาหารไปตุรกีมูลค่า 898.76 ล้านบาท ขณะที่ไทยนำเข้าจากตุรกี 983.1 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 84.34 ล้านบาท สินค้านำเข้าจากตุรกีที่สำคัญ ได้แก่ แป้งสาลี น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เฮเซลนัต เนื้อสัตว์แช่แข็ง ทูน่าครีบเหลืองแช่แข็ง น้ำมันมะกอก ยีสต์ขนมปัง สำหรับสินค้าส่งออกไปตุรกีที่สำคัญ 10 ลำดับแรก ปี 2555 ได้แก่ ครีมเทียม ข้าวโพดหวานแปรรูป ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพดหวานแช่แข็ง มะขามแห้ง สับปะรดกระป๋อง โดยสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว
สำหรับตลาดฮาลาลในอียิปต์ มีแนวโน้มเติบโตสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในปี 2555-2559 Business Monitor คาดการณ์การบริโภคอาหารต่อคนต่อปีขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.35 ยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.55 โดยในปี 2555 ไทยส่งออกอาหารไปอียิปต์มูลค่า 7537.9 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 42.27 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2554 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง เกิดอัตราเงินเฟ้อสูง ปริมาณผลผลิตในประเทศลดลง ขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สิน หันมาสำรองอาหารมากขึ้น ทำให้ในปี 2555 อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ต่างๆ เหล่านี้ขยายตัวดี
ด้านตลาดโมร็อกโก จากการวิจัยของสถานทูตไทยในโมร็อกโกพบว่า ตราฮาลาลมีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจขึ้น การที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดี ทำให้คนชั้นกลางมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น มีความสามารถในการซื้ออาหารมากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกที่ขยายตัวอย่างมากทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารในบรรจุภัณฑ์ง่ายขึ้น ความต้องการอาหารที่สะดวกรวดเร็ว บรรจุซองเล็กขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มบิสกิต สแน็ก ขนมขบเคี้ยว ลูกอม ขนมหวาน ซุป โดยในปี 2554 โมร็อกโกนำเข้าอาหารมูลค่า 4,599.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราขยายตัวร้อยละ 39.01 จากปี 2553 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณร้อยละ 0.2 เท่านั้น ขณะที่ด้านการส่งออก โมร็อกโก ส่งออกมูลค่า 3,033.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกอาหารของโมร็อกโกค่อนข้างกระจายตัว แต่ละประเทศมีสัดส่วนไม่ต่างกันมาก ทำให้ตลาดมีความหลากหลาย ลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวได้ โดยตลาดในภูมิภาคใกล้เคียงที่น่าสนใจ ได้แก่ รัสเซีย กินี มอริตาเนีย เลบานอน กานา แอลจีเรีย ไนจีเรีย แองโกลา เซเนกัล ซีเรีย ตูนิเซีย ในด้านสินค้านำเข้านั้นหลักๆ ยังเป็นสินค้าขั้นพื้นฐานพวกข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำตาล น้ำมัน เพื่อนำไปแปรรูปต่อ
นายอมรกล่าวสรุปว่า “อาหารฮาลาลคืออาหารตามหลักความเชื่อทางศาสนา การจะขยายตลาดต้องสร้างความเชื่อมั่นในการผลิตแก่ผู้ซื้อ ผู้ผลิตต้องมีความซื่อสัตย์ ถึงแม้จะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกันแต่ตลาดมีความแตกต่างกันด้านวัฒนธรรม พฤติกรรมประจำถิ่น จึงควรทำความรู้จักตลาดเป้าหมายที่น่าสนใจให้ดี อย่าพิจารณาตลาดเป็นเพียงแค่ 1 ประเทศที่สนใจ แต่ให้มองในศักยภาพด้านอื่นด้วย และที่สำคัญคือแนวทางในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อให้ผู้นำเข้ารู้จัก เช่น Cairo international Fair เป็นต้น”
.................................................................